มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์ : พาหุรัดแห่งปารีส ศูนย์กลางค้าผ้าที่ใหญ่สุดของชาวปารีเซียง
Lite

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์ : พาหุรัดแห่งปารีส ศูนย์กลางค้าผ้าที่ใหญ่สุดของชาวปารีเซียง

Focus
  • ตลาดผ้าแซงต์ปิแยร์ เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1920 โดยพ่อค้าผ้าของตระกูลเดรย์ฟุส และตระกูลโมลิน ที่ขนผ้าจากชานเมืองปารีสเข้ามาขายที่บริเวณเนินเขามงมาร์ต และจากห้องแถวเล็กๆในอดีตกลายเป็นตลาดค้าผ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปารีส
  • ฐานลูกค้าประจำเฉพาะกลุ่ม ผ้านานาชนิด ราคาจับต้องได้ และทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือมงมาร์ตทำให้ตลาดผ้าแห่งนี้ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
  • บริเวณใกล้เคียงยังมีพิพิธภัณฑ์อาร์ตบรูต (Art Brut) และร้านอาหารมากมายหลากหลายสไตล์จึงถือว่าเป็นย่านแฮงก์เอาต์ยอดนิยมแห่งหนึ่งของชาวปารีเซียง

หากกรุงเทพฯ มีย่านพาหุรัดที่เป็นแหล่งค้าผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บแห่งใหญ่ที่ครบจบในที่เดียว กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสก็มี มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์ (Marché Saint-Pierre) ที่เป็นศูนย์กลางการค้าผ้าที่ใหญ่ที่สุดของชาวปารีเซียงที่มีผ้าหลากหลายชนิดในราคาที่จับต้องได้ทำให้ย่านนี้มีชีวิตชีวาและคึกคักไม่แพ้ย่านพาหุรัดของไทยเลยทีเดียว นอกจากนี้บางร้านยังเปิดคอร์สสอนการเย็บผ้าสำหรับมือใหม่หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มสกิลการตัดเย็บยิ่งขึ้นไปอีกโดยผู้เชี่ยวชาญ

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณ ถนนออร์คเซล (Rue d’Orsel) ถนนชาร์ลส์ โนดิเย่ร์ (Rue Charles Nodier) ถนนลิฟวิ่งสโตน (Rue Livingstone) ถนนเซอแวสต์ (Rue Seveste) ถนนปิแยร์ ปิการ์ (Rue Pierre Picard) และบริเวณจัตุรัสแซงต์ปิแยร์ (Place Saint-Pierre) เสน่ห์ของที่นี่คือบรรยากาศของการเดินเลือกซื้อสินค้าที่ทำให้รู้สึกเหมือนมาเดินเที่ยวชมหมู่บ้านที่มีความสวยงามและมีชีวิตชีวา เนื่องจากตลาดตั้งอยู่ในย่านมงมาร์ตที่เป็นที่ตั้งของ มหาวิหารซาเคร-เกอร์ (Sacré-Cœur) อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและห้ามพลาดหากมาเยือนปารีส ที่นี่จึงเต็มไปด้วยร้านรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขนม ร้านไอศกรีม ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านขายของที่ระลึกมากมายที่ช่วยสร้างสีสันและความครึกครื้นเป็นอย่างดี

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์

ปัจจุบันตลาดแห่งนี้เต็มไปด้วยร้านค้าทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เช่น ร้านเดรย์ฟุส (Dreyfus) ซึ่งถือได้ว่าเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนี้เลยก็ว่าได้โดยมีพื้นที่ทั้งหมดถึง 3,000 ตารางเมตร และแบ่งเป็น 7 ชั้น แต่ละชั้นจะมีผ้านานาชนิดและอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยแบบครบวงจร ส่วนร้านโมลิน (Moline) แม้จะขนาดเล็กกว่าแต่ก็มีสินค้าให้เลือกมากมายและได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์

นอกจากนี้ยังมีร้านติสซู แครนน์ (Tissus Reine) ร้านเวยย์ (Weill) และร้านอื่นๆอีกมากมายให้เดินชอปกันได้อย่างเพลิดเพลิน ชื่อของร้านค้าที่นี่มักจะตั้งชื่อร้านให้มีคำว่า ติสซู (Tissus) ที่หมายถึงผ้าและสิ่งทอ เช่น ร้าน Paris Tissus ร้าน Tissusd’ Orsel และ ร้าน Festival Tissus ที่ตั้งเรียงรายติดกันเป็นทอดๆ ทำให้แตคราสซ์ (Terrasse) หรือทางเดินเท้าบนถนนในย่านมงมารต์ฝั่งซ้ายที่มีโบสถ์สีขาวซาเคร-เกอร์ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเป็นฉากหลังเต็มไปด้วยลังไม้และชั้นไม้ที่อัดแน่นไปด้วยผ้าชิ้นและผ้าม้วนเกือบทุกเฉดสีวางเรียงรายเต็มไปหมด

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์

จากห้องเช่าขนาดเล็กสู่ศูนย์กลางการค้าผ้าที่ใหญ่ที่สุดในปารีส

ประวัติของย่าน มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์ นับย้อนไปในปีค.ศ.1920 เมื่อ เอ็ดมงด์ เดรย์ฟุส (Edmond Dreyfus) และ อาร์คมองด์ โมลิน (Armand Moline) พ่อค้าผ้าจากเมืองเลอวาลัวส์-เปร์เคร่ต์ (Levallois-Perret) ที่อยู่ทางบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปารีส ได้ช่วยกันขนผ้าใส่รถเข็นเข้ามาขายในเมืองหลวง ณ บริเวณด้านล่างของเนินเขามงมาร์ต (Montmartre) ใน 1 สัปดาห์พวกเขาต้องเข็นผ้ามาขายและเดินทางไปกลับถึง 3 ครั้ง ครั้นเมื่อได้ยินข่าวว่ามีห้องเล็กๆให้เช่าในตึกแห่งหนึ่งใกล้กับบริเวณที่พวกเขาค้าผ้าทั้งคู่จึงตัดสินใจเช่าห้องนั้นไว้เพื่อเป็นโกดังเก็บสต็อกผ้าที่เหลือจากการขายทำให้ไม่ต้องแบกผ้ากลับไปกลับมา

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์

ต่อมาการค้าผ้าเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พวกเขาซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงและสร้างอาคารทั้งหลังเพื่อเปิดเป็นร้านค้าของตัวเองในชื่อว่า มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์ (Marché Saint-Pierre) พื้นที่ในตัวอาคารส่วนใหญ่เป็นของตระกูลเดรย์ฟุส ส่วนตระกูลโมลินนั้นได้บริเวณชั้นล่างของอาคารและมาปรับปรุงเป็นร้านค้าตามชื่อของตระกูล จากเดิมที่พวกเขาขายเฉพาะผ้าสำหรับตัดชุด ทุกวันนี้สินค้าในร้านมีทั้งผ้าสำหรับตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ผ้าทอสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน และของตกแต่งประดับฉากสำหรับภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์และละครเวที ปัจจุบันร้านโมลินยังสืบทอดกิจการโดยคนในตระกูลโมลินและได้แยกร้านออกมาจากอาคารหลังเดิม แต่ร้านเดรย์ฟุสนั้นมีการเปลี่ยนมือผู้ดำเนินกิจการไปแล้ว

มาร์คเช่ แซงต์ปิแยร์

ราคาจับต้องได้สำหรับทุกกลุ่ม ครบจบในที่เดียว

แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการระบาดของไวรัสโควิด-19และการประกาศล็อกดาวน์ถึง 3 รอบ จะทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งทางด้านวิถีชีวิตของผู้คนและด้านเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก แต่ร้านค้าผ้าในย่านนี้ยังสามารถประคองตัวให้ผ่านมาได้ ผู้ค้าในตลาดหลายคนเห็นพ้องกันว่าเนื่องจากตลาดแห่งนี้ยังมีฐานลูกค้าหลักขาประจำที่เป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น ช่างตัดเสื้อ ดีไซเนอร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งภาพยนตร์และละครเวทีทำให้หลาย ๆร้านยังมียอดสั่งซื้อเข้ามาพอจะประคับประคองตัวให้ผ่านวิกฤตมาได้ ส่วนลูกค้ารายย่อย ลูกค้าขาจรและนักท่องเที่ยวที่เมื่อก่อนมักนิยมซื้อผ้าชิ้นเล็ก ๆ หรือของกระจุกกระจิกเช่น กระดุมลายสวย ๆ ผ้าลูกไม้ ผ้าฝ้ายชิ้นเล็ก ๆ ติดไม้ติดมือกลับไปนั้นมีสัดส่วนลดลงอย่างมาก

ดาวิด บอรด์ (David Bord) ผู้จัดการร้าน โมลิน (Moline) ให้ความเห็นว่าความหลากหลายของสินค้ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ยังได้รับความนิยมจากผู้ซื้อขาประจำผ้าที่ขายมีทั้งมาจากโรงงานในฝรั่งเศสและประเทศในยุโรป เช่น สเปน อิตาลี ฮอลแลนด์ และเบลเยียม รวมถึงจากฝั่งเอเชีย เช่น จีนและอินเดีย เรียกได้ว่ามีตัวเลือกมากมายและหลากหลายทำให้เป็นแหล่งซื้อขายที่ครบจบในที่เดียวทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปตระเวนหาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม

ในส่วนของราคานั้นเขารับรองว่าราคาขายที่ตลาดนี้สามารถจับต้องได้สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม อาจเป็นเพราะว่าร้านค้าเหล่านี้จะมีการจัดการด้านสต็อกสินค้าแบบร่วมกัน เช่น ร้านใหญ่ ๆ อย่าง เดรย์ฟุส โมลิน ทิสซู แครนน์ และร้านใหญ่ ๆบางร้าน จะเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปให้ร้านสาขาต่าง ๆ ที่อยู่ในย่านนี้ประมาณ 40 กว่าร้าน ทำให้สามารถต่อรองราคากับโรงงานผู้ผลิตได้ในราคาที่ไม่แพง ส่งผลให้ร้านค้าสามารถกำหนดราคาขายได้ถูกกว่าตลาดอื่น ๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ โลคร็องต์ ซาร์กา (Laurent Zarka) ผู้จัดการร้าน ปาครี ติสซู (Paris Tissus) โดยโลคร็องต์กล่าวว่า บรรดาผ้าในร้านที่เห็นวางขายอยู่นั้นทางร้านเดรย์ฟุสจะเป็นผู้จัดการสต็อกสินค้าให้ ร้านของเขาจึงมีสินค้าทุกแบบทุกเกรดที่ลูกค้าต้องการในราคาที่เหมาะสม นอกจากผ้าแล้วโลคร็องต์กล่าวว่าร้านของเขายังมีกระเป๋าเดินทางหลากหลายสไตล์ให้เลือกซื้ออีกด้วย

ปรับตัวตามเทรนด์แต่ยังคงเสน่ห์ที่ร้านค้าออนไลน์ให้ไม่ได้

ส่วนการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่การขายสินค้าแบบออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น ทางตลาดแซงต์ปิแยร์ก็มีการปรับตัวเช่นกันโดยหลาย ๆร้านเริ่มมีเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม รวมทั้งรองรับลูกค้าที่อยู่ไกลและไม่สะดวกจะเดินทางมาที่นี่ นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายทางโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่งด้วย เช่น ให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์หรือยูทูบเบอร์มาถ่ายทำรายการหรือรีวิวสินค้าของบรรดาร้านรวงต่าง ๆ แถวนี้ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการโปรโมตร้านค้า

“การมาจับจ่ายซื้อผ้าที่ตลาดแห่งนี้นอกจากคุณจะได้สินค้าดีมีคุณภาพและราคาเหมาะสมติดมือกลับบ้านแล้ว คุณจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้เดินเที่ยวในหมู่บ้านน่ารักๆอีกด้วย ในขณะที่คุณใช้สายตาเลือกซื้อสินค้าคุณก็สามารถสัมผัสและจับต้องเนื้อผ้าต่างๆได้ สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์และประสบการณ์ที่ร้านค้าออนไลน์ไม่สามารถให้คุณได้” ดาวิด บอรด์ ผู้จัดการร้านโมลินกล่าว

ฐานของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ราคาที่จับต้องได้บวกกับทำเลที่ตั้งและการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ออนไลน์ของโลกปัจจุบันนับเป็นแรงสำคัญที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจนมาถึงทุกวันนี้

แวะชมศิลปะสไตล์อาร์ตบรูต (Art Brut) และเพิ่มพลังด้วยอาหารอร่อยๆ

นอกจากผ้าหลากหลายชนิดที่มีให้เลือกสรร ย่านนี้ยังเป็นจุดเช็กอินสำหรับคอศิลปะที่ชอบงานศิลปะนอกกระแสและสถานที่ที่ไม่ควรพลาดคือ ลา อาลล์ แซงต์ ปิแอร์ (La Halle Saint Pierre) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะที่เรียกว่า Art Brut (อาร์ตบรูต) หรือศิลปะดิบ ผลงานศิลปะที่จัดแสดงที่นี่มักจะออกมาในแบบไร้กฎเกณฑ์ มีความดิบ ความซื่อบริสุทธิ์ อิสรภาพ ไม่สามารถอธิบายความงามได้ และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว

ผู้ที่สร้างงานศิลปะประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางศิลปะมาก่อนแต่สามารถรังสรรค์ผลงานออกมาได้สวยงาม เช่น ผู้ต้องขัง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากจะมีห้องจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ แล้วยังมีร้านขายหนังสือและร้านกาแฟที่มีบริการเครื่องดื่มและอาหารว่างในบริเวณฮอลล์ของพิพิธภัณฑ์อีกด้วยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดกิจกรรมและนิทรรศการต่าง ๆได้ที่ https://www.hallesaintpierre.org/

เนื่องจากตลาดผ้าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของย่านมงมาร์ต ที่นี่จึงเป็นแหล่งรวมของร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารร้านกาแฟ คลับ บาร์ ที่ตั้งเรียงรายตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะร้านอาหารนั้นเรียกได้ว่ามีมากจนเลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว หากใครที่ไม่อยากเดินไกลมาก ร้านอาหารบริเวณถนนปอลล์ อัลแบรต์ (Rue Paul-Albert) และถนนมูแลร์ (Rue Muller) นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะมีร้านอาหารเล็ก ๆ ตั้งเรียงรายกันอยู่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสและร้านพิซซ่า

หากใครที่ยังพอมีแรงเดินไกลอีกหน่อย ขอแนะนำให้เดินไปแถวถนนเลอ ปิก (Rue Lepic) ถนนทรัวแฟรส์ (Rue des Trois Frères) และถนนเด ซับแบส (Rue des Abbesses) ที่มีร้านอาหารอร่อย ๆ และบรรยากาศการตกแต่งร้านน่ารักตั้งอยู่มากมายส่วนมากแต่ละร้านจะมีเมนูตั้งไว้ให้เราเห็นรายการอาหารได้อย่างชัดเจนสามารถเลือกได้ตามรสนิยมการกินของแต่ละคน หรือจะเลือกจากสไตล์การตกแต่งร้าน หรือจะใช้ตัวเลือกแบบชาวปารีเซียงที่นิยมร้านที่มีเทอร์เรซกว้าง ๆ ก็ไม่ว่ากัน

ส่วนร้านเด่น ๆที่ชาวปารีเซียงนิยมนั้นมีดังนี้ (ขอย้ำว่าการเรียงลำดับนี้ไม่ได้หมายถึงการจัดอันดับของร้านแต่เรียงตามที่ตั้งของถนน)

  • ร้านL’étéenpentedouce, 8 rue Paul Albert 75018 Paris
  • ร้านLe Sancerre, 35 rue des Abbesses 75018 Paris
  • ร้านLes Fines Lames, 35 rue Lepic 75018 Paris
  • ร้านLe Bon, la Butte, 102 rue Lepic 75018 Paris
  • ร้านLe Coq &Fils, 98 rue Lepic 75018 Paris
  • ร้านLa Boîte aux Lettres,108 rue Lepic 75018 Paris
  • ร้านLe Refuge des Fondus, 17 rue des Trois Frères 75018 Paris
  • ร้านLa vache et le cuisinier, 18 rue des Trois Frères 75018 Paris
  • ร้านLe Cabanon de la butte, 6 rue Lamarck 75018 Paris

การเดินทาง: Métro สาย 2 สถานี Anvers

ขอขอบคุณ

  • David Bord, ร้าน Moline 1,3,5,7 rue Livingstone 75018 Paris
  • Laurent Zarka, ร้าน Paris Tissus 1 rue de Clignancourt 75018 Paris

อ้างอิง

ภาพ : ดรุณี คำสุข


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง