สำนักพิมพ์บทจร และบทสนทนากว่าจะเป็น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
Lite

สำนักพิมพ์บทจร และบทสนทนากว่าจะเป็น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

Focus
  • หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นผลงานของนักเขียนชาวโคลอมเบียเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ.1982 “กาเบรียล การ์เซียมาร์เกซ”
  • หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นหนึ่งในหนังสือภาษาสเปนที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดไม่ต่ำกว่า 40 ภาษา
  • กาเบรียล การ์เซียมาร์เกซเป็นหนึ่งในนักเขียนลาตินอเมริการ่วมสมัยที่โดดเด่นในศตวรรษที่20 เขาได้เสียชีวิตลงในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.2014

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) คือ หนึ่งในหนังสือที่ถูกจับตามองตั้งแต่เปิดพรีออเดอร์ เพราะนี่คือหนังสือแม่แบบวรรณกรรมประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ของนักเขียนชาวโคลอมเบียเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1982 กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือที่รู้จักกันในนาม กาโบ ในระดับโลก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นหนึ่งในหนังสือภาษาสเปนที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดไม่ต่ำกว่า 40 ภาษา สำหรับแวดวงนักอ่านไทย นี่เป็นหนังสือที่ถูกตามหาอยู่ตลอดในตลาดหนังสือมือสอง และเป็นหนึ่งในหนังสือที่นักสะสมหลายคนอยากมีปกดีไซน์ต่างๆ ไว้ในครอบครอง

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

จริงอยู่ว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เคยถูกตีพิมพ์มาแล้วในไทย แต่ครั้งนี้คือการกลับมาใหม่ด้วยสำนวนการแปลจากต้นฉบับภาษาสเปน โดย สำนักพิมพ์บทจร ซึ่งมาพร้อมรูปเล่มที่ร่วมสมัย เรียกได้เลยว่าสวยจนต้องเดินเข้าไปหยิบอย่างไม่สนเนื้อหา และนั่นก็ทำให้สามารถลดความเคร่งขรึมของวรรณกรรมคลาสสิกให้ดูน่าพลิกอ่านได้มาก ที่สำคัญการกลับมาของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวครั้งนี้ทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ได้ในทันที เหตุผลหนึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า เพราะหนังสือของ กาเบรียล การ์เซียมาร์เกซ ขึ้นชื่อเรื่องความยาก ความหินในการติดต่อจนทำให้ วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บทจรถึงกับเอ่ยปากว่า

“สิ่งที่ไม่มีในการทำงานครั้งนี้คือ ความราบรื่น”

ก่อนที่นักอ่านจะได้ด่ำดิ่งสู่ความโดดเดี่ยว Sarakadee Lite ชวน วรงค์ หลูไพบูลย์บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บทจรพร้อมด้วย นุ่ม-อริยะ จินะเป็งกาศ บรรณาธิการเล่ม และ กุ๊กกิ๊ก-ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ นักแปลมาล้อมวงเล่าถึงมหากาพย์กว่าจะเป็น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวบอกเลยว่าแทบไม่มีความราบรื่นอย่างที่วรงค์กล่าวไว้

หลายแรมปีแห่งการขอลิขสิทธิ์

ในการทำหนังสือของกาโบนั้นความยากขั้นแรกสุดที่ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ไทยหรือต่างชาติต้องเจอคือเรื่องลิขสิทธิ์แม้กาโบเป็นนักเขียนชาวโคลอมเบียที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบเก็บตัว เขาจึงเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ติดต่อยากคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตอบอีเมล ติดต่อไม่ได้ ไม่ติดต่อกลับ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่คนในแวดวงหนังสือ และคนทำหนังสือได้ยินกันอย่างชินหู ทั้งจากตัวกาโบเอง หรือแม้แต่ทีมงานดูแลลิขสิทธิ์ของเขาก็ติดต่อยากไม่แพ้กัน ซึ่งวรงค์ก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยได้รับความเงียบงันเป็นคำตอบ

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
กุ๊กกิ๊ก-ชนฤดี ปลื้มปวารณ์

วรงค์เริ่มติดต่อขอลิขสิทธิ์หนังสือกาโบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2006 ผ่านมา7 ปี ก็ยังคงไร้วี่แววว่าจะได้รับการตอบรับ จนวันหนึ่งเมื่อบทจรดำเนินการติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์เพื่อแปลและพิมพ์หนังสือ ยัญพิธีเชือดแพะของ มาริโอ บากัส โยซา ทำให้เขาสามารถติดต่อกับตัวแทนของกาโบซึ่งใช้บริษัทด้านลิขสิทธิ์เจ้าเดียวกันได้ พร้อมส่ง ภชภร ด่านวิรุฬหวณิช บรรณาธิการสำนักพิมพ์ในเวลานั้นซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ปารีสได้นั่งรถไฟไปเจรจากับตัวแทนลิขสิทธิ์ของกาโบโดยตรงที่ลอนดอนในงาน ลอนดอน บุ๊กส์แฟร์ ซึ่งถือเป็นการแสดงความตั้งใจจริงของสำนักพิมพ์เล็กๆ พร้อมกับเปิดอกสารภาพกับตัวแทนลิขสิทธิ์ตรงๆ ว่าทางบทจรเคยตีพิมพ์ผลงาน “รักเมื่อคราวห่าลง” ของกาโบมาก่อนหน้านี้อย่างไม่ได้รับลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง และขอดำเนินการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ย้อนหลังทั้งหมดให้ นั่นจึงทำให้มหากาพย์การติดต่อขอลิขสิทธิ์ตลอด 7 ปีจบลง


ฝ่าอุปสรรคอย่างไม่โดดเดี่ยว

หลังจากจบมหากาพย์เรื่องลิขสิทธิ์ ในขั้นตอนการทำงานต่อมาก็มีปัญหาติดขัดมากมายนุ่ม บรรณาธิการต้นฉบับ และ กุ๊กกิ๊ก นักแปล ได้เล่าถึงความยากของการแปลภาษาสเปน ไว้ว่า คำคำหนึ่งสามารถตีความได้หลายความหมายและบางจุดก็ช่างยิบย่อย อย่างการที่ต้องเลือกว่าจะใช้คำว่า “ผ้าห่ม” หรือ “ผ้าคลุม” ซึ่งอาจดูเป็นคำทั่วไป แต่สามารถทำให้เรื่องราวเปลี่ยนไปอีกแง่มุมหนึ่งได้เลย

นุ่ม-อริยะ จินะเป็งกาศ

อีกความยากคือวรรณกรรมของกาโบมีการประกอบคำใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ในเรื่องของเขาเท่านั้น ดังนั้นแต่ละคำในงานของกาโบจึงไม่เคยมีคำแปลที่ตรงตัว ดังนั้นเพื่อให้ยังคงความคาแรกเตอร์ด้านการสร้างคำของกาโบ ทางนักแปลก็ต้องประกอบสร้างคำภาษาไทยขึ้นมาใหม่เช่นกัน นั่นจึงทำให้นักแปลต้องอ่านต้นฉบับภาษาสเปนร่วม 10 รอบ

เรื่องของต้นฉบับจบไป แต่ก็ยังมีอุปสรรคถาโถมชนิดที่วรงค์เรียกว่า “ความซวย” อย่างเช่นในการออกแบบปกวรงค์ต้องการให้ปกเล่มนี้ไม่เป็นไปตามกระแสของการออกแบบ เขาจึงเลือกนักออกแบบมากฝีมือที่เคยร่วมงานกันมาอย่าง Pianissimo Press แต่ในขั้นเริ่มแรกนักออกแบบมีอันป่วยหนักต้องพักงานถึง 2 เดือน และหลังจากกลับมาทำงานได้ก็มีเหตุคนในครอบครัวป่วยตามมา ทำให้การออกแบบปกต้องชะงักไปอีกครั้งแต่เรื่องโชคร้ายนี้ไม่จบง่ายๆเพราะหลังจากนั้นก็มีเหตุเรื่องเวลาของคนทำงานที่ไม่ตรงกันทั้งที่กำลังจะปิดเล่มแต่ไม่ว่าอย่างไรการทำงานก็ยังเดินหน้าต่อแม้มีเหตุสะดุดบ้างสุดท้ายงานก็จบลงได้ในที่สุดและกลายมาเป็น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ปกแข็งคาดริบบิ้นสวมปกหุ้มลาย มาก็อนโดสถานที่สำคัญที่อยู่ในเรื่อง ทั้งปกหลังยังมี Booklet บรรจุบทความที่กล่าวถึงตัวบทวรรณกรรม

“ต้นทุนและค่าลิขสิทธิ์มีราคาเกือบ 4 เท่าของหนังสือเล่มอื่นที่บทจรเคยพิมพ์มา เราจึงอยากทำรูปเล่มให้สมราคา และให้คนอ่านได้ของที่คุ้มค่าจริงๆ กลับไป” วรงค์กล่าว

และเมื่อเราถามกลับถึงความคุ้มค่าที่นักอ่านจะได้รับว่าสมกับต้นทุนนั้นไหม ทั้งวรงค์ นุ่ม และกุ๊กกิ๊ก ตอบอย่างที่สรุปได้ว่า “อยากให้ลองหามาอ่านดูด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านเพราะมีใครบอกว่าดีหรือไม่อย่างไร แต่อยากให้ลองมามีประสบการณ์กับหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวด้วยตัวเอง”

วรงค์ หลูไพบูลย์

รู้จัก สำนักพิมพ์บทจร กับการทำหนังสือไม่ให้เป็นของขลัง


บาทจร คือการเดินทางด้วยเท้า จากความคิดในการเล่นคำของวรงค์สู่การตั้งชื่อสำนักพิมพ์บทจรที่แปลได้ว่าการเดินทางของตัวบท ด้วยความตั้งใจให้ตัวบทเดินทางแนวทางของสำนักพิมพ์มากกว่า12เล่มที่ผ่านมาเป็นงานแปลตัวบทวรรณกรรมโลกให้ได้เดินทางมาหานักอ่านชาวไทย เช่น บุรุษปราสาทฟ้า (The Man in the High Castle) วรรณกรรมของนักเขียนไซไฟระดับตำนานฟิลิปเค. ดิก หรือจะเป็นวรรณกรรมของนักเขียนชาวลาตินอเมริกาที่มีชื่อเสียงไม่หย่อนไปกว่ากาโบอย่าง ยัญพิธีเชือดแพะ (The Feast of the Goat) ของ มาริโอ บาร์กัส โยซา

สำหรับ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นอีกหนึ่งเล่มที่มียอดขายในระดับดีมากเมื่อเทียบกับเล่มอื่นๆ ของสำนักพิมพ์แต่ถึงอย่างนั้น วรงค์ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าปัจจุบันงานสำนักพิมพ์เป็นอาชีพหลักและสามารถเลี้ยงตัวจากยอดขายอย่างแข็งแรงพอ แต่ถึงอย่างนั้นวรงค์เองก็ยังพอมีความหวังถึงการเติบโตของสำนักพิมพ์อยู่บ้าง

“ก่อนจะพูดถึงอนาคตระยะยาว ในตอนนี้คงต้องทำให้สำนักพิมพ์เลี้ยงตัวเองได้ด้วย”

วรงค์ตอบเมื่อถามถึงแผนในอนาคต แต่ที่แน่ๆ บทจรจะมีงานแปลวรรณกรรมโลกให้นักอ่านได้เห็นและจับจองมาอ่านอย่างแน่นอนด้วยวิธีการเลือกหนังสือสไตล์บทจร วรงค์ตอบถึงการเลือกหนังสือว่า “ผมปิ๊ง ทีมงานพร้อม ลุย!” และไม่ได้มุ่งเพ่งไปที่วรรณกรรมขึ้นหิ้งหรืองานที่ได้รับรางวัลเป็นพิเศษ หรือต่อให้งานชิ้นนั้นคนไทยไม่รู้จัก แต่ถ้าน่าสนใจบทจรก็พร้อมจะนำการเดินทางของตัวบทมาสู่ภาษาไทยเช่นกัน

ส่วนเหตุผลที่เขามักจะคัดสรรวรรณกรรมชั้นเอกมาแปลนั้น ไม่ใช่เพราะเขาต้องการทำวรรณกรรมประเภทขึ้นหิ้ง สำหรับวรงค์วรรณกรรมไม่ได้มีไว้เพื่อยกย่องบูชา หรือมีไว้เพียงเล่นรุ่นสะสมปกพิมพ์ แต่วรรณกรรมต้องมีการวิจารณ์ ให้ความสำคัญกับการแปล หรือองค์ประกอบของเนื้อหาและตัวบทว่ามีความหมายต่อตัวผู้อ่านอย่างไร ผู้อ่านเองก็ต้องสามารถตั้งคำถาม วิจารณ์ ติชม ด่าทอใดๆ โดยไม่ต้องคำนึงว่างานชิ้นนั้นจะเป็นงานวรรณกรรมขึ้นหิ้ง หรือศักดิ์สิทธิ์

“การอ่านเป็น Exercise Freedom ฝึกฝนขัดเกลาให้สัมผัสได้ถึงเสรีภาพในตัวเอง ทำให้เห็นโลกกว้างขึ้น ผมตื่นเต้นทุกครั้งเวลาได้เห็นนักอ่านที่กล้าทักท้วงกับตัวบท สนทนากับนักแปล หรือการกระทำของสักนักพิมพ์” วรงค์กล่าวทิ้งท้าย

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

Fact File

  • หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นผลงานของนักเขียนชาวโคลอมเบียเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1982 “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ”หรือที่รู้จักกันในนาม “กาโบ”เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนชาวลาตินอเมริการ่วมสมัยที่โดดเด่นในศตวรรษที่20และเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนงานประเภท สัจนิยมมหัศจรรย์(magic realism) อันมีความโดดเด่นในแง่ของการผสานองค์ประกอบเหนือจริงในสถานการณ์ที่ดูสมจริงซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวกาโบได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.2014
  • สำนักพิมพ์บทจร : www.facebook.com/Bodthajorn




Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์