ตามรอย “ชาวสุนาเนียน” ไปทัวร์ของดีย่านสุขุมวิท-บางนา ฉบับ SUNA
Lite

ตามรอย “ชาวสุนาเนียน” ไปทัวร์ของดีย่านสุขุมวิท-บางนา ฉบับ SUNA

Focus
  • หลังจากเป็นตัวแทนชาวสุขมวิท-บางนา ส่งต่อเรื่องราวดีๆ พิกัดเด็ดๆ ออกมาให้ทั้งคนที่อยู่ในย่านและนอกย่านได้ติดตามกันอยู่เสมอและต่อเนื่องนานกว่า 10 เดือน ถึงเวลาแล้วที่ชาวสุนาหรือที่เขาเรียกกันเองอย่างน่ารักว่า สุนาเนียน จะพาทุกคนไปตะลุยพิกัดที่พวกเขา ว่าดี ในทัวร์แรกที่ชื่อว่า SUNA ว่าดี Tour
  • SUNA ว่าดี Tour พร้อมหมุนล้อออกเดินทางในวันที่ 21-22 และ 28-29 มกราคม 2566 นี้ แบ่งเป็น 2 เส้นทางนั่นคือ สายกิน (ทุกวันเสาร์) และสายเก๋าสำหรับคนที่อินประวัติศาสตร์ (ทุกวันอาทิตย์)

เคยไหมเวลาใครถามว่า “ย่านเรามีของดีอะไร” เราเองที่อาศัยอยู่ในย่านกลับต้องนึกแล้วนึกอีก และสุดท้ายก็นึกไม่ออก โดยเฉพาะหากเราไม่ได้อยู่ในย่านเมืองเก่า เมืองท่องเที่ยว ที่มีพิกัดให้เลือกกินเลือกเที่ยวแน่นไปหมด ดังนั้นการมีแพลตฟอร์ม ชุมชน หรือกลุ่มที่รวบรวมเรื่องราวประจำย่านไว้ในที่เดียวจึงช่วยเราได้มาก ทั้งยังมีส่วนในการผลักดันเรื่องราวของย่านให้เป็นที่รู้จัก พร้อมขับเคลื่อนย่านในมิติต่างๆ ไปพร้อมกับการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับภารกิจพาไปทัวร์ของดี ย่านสุขุมวิท-บางนา กับเพจ SUNA หรือ สุนา อีกหนึ่งตัวแทนของชาวสุขุมวิท-บางนา ที่ต้องการส่งต่อเรื่องราวดีๆ พิกัดเด็ดๆ ออกมาให้ทั้งคนที่อยู่ในย่านและนอกย่านได้ติดตามกันอยู่เสมอและต่อเนื่องนานกว่า 10 เดือน

คราวนี้ถึงเวลาแล้วที่ชาวสุนาหรือที่เขาเรียกกันเองอย่างน่ารักว่า สุนาเนียน จะพาทุกคนไปตะลุยพิกัดที่พวกเขา ว่าดี ในทัวร์แรกที่ชื่อว่า SUNA ว่าดี Tour ซึ่งพร้อมหมุนล้อออกเดินทางในวันที่ 21-22 และ 28-29 มกราคม 2566 นี้ แบ่งเป็น 2 เส้นทางนั่นคือ สายกิน (ทุกวันเสาร์) และสายเก๋าสำหรับคนที่อินประวัติศาสตร์ (ทุกวันอาทิตย์)

ไอศกรีมกะทิอบเทียนอุดมสุข
แต้-ณณัฏฐ์ เขมโสภต

ความน่าสนใจเป็นพิเศษของทัวร์นี้ไม่เพียงแต่การตามรอยพิกัดเด็ดๆ ร้านลับๆ แต่คือการได้พบปะกับเจ้าบ้านตัวจริงเสียงจริง โดยที่แต่ละคนต่างก็มีของและพร้อมจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตัวเอง โดยมี แต้-ณณัฏฐ์ เขมโสภต ชาวสุนาเนียนทำหน้าที่รอต้อนรับลูกทัวร์ด้วยความยิ้มแย้ม พร้อมความหอมหวานของไอศกรีมกะทิที่ส่งต่อความสุขมาจากวันวาน ที่เราบอกแบบนั้นก็เพราะว่าเขาคือทายาทรุ่น 2 ที่ยื่นมือขอรับไม้ต่ออย่างเต็มใจมาจาก ลุงพ้ง-ศิริพงศ์ ลักษมีมงคล เจ้าของสูตร ไอศกรีมกะทิอบเทียนอุดมสุข ที่เริ่มต้นสร้างความทรงจำให้ชาวอุดมสุขมาตั้งแต่ พ.ศ.2516

ไอศกรีมกะทิอบเทียนอุดมสุข
SUNA ว่าดี Tour

ปัจจุบัน ไอศกรีมกะทิอบเทียน ปรับจากถ้วยพร้อมรับประทานแบบเติมท็อปปิงมาเป็นถ้วยสำเร็จรูปและกล่องกลับบ้านหลังจากสถานการณ์โควิด19 แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าของสูตรกำชับเสมอคือรสมือ ที่เกิดจากประสบการณ์และการสังเกตเนื้อ สีและสัมผัสของไอศกรีม แต่ไม่ใช่ว่ารสชาติจะไม่สำคัญเพียงต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบในแต่ละช่วงเวลาและการปรับกลิ่นรสให้เข้ากับปัจจุบัน ทั้งนี้การสังเกตลักษณะอื่นไปร่วมกับรสชาติจะทำให้มีส่วนที่สามารถตรวจทานรสมือและคุณภาพของไอศกรีมให้เหมือนเดิมได้ ใครแวะไปเราขอแนะนำท็อปปิงมะละกอเชื่อม ที่ลุงพ้งและคุณแต้เรียกชื่ออย่างขำขันว่าแมงละโก้หรือมะลาโก้ เพราะมีรสเปรี้ยวเหมือนมะม่วงนั่นเอง ร้านตั้งอยู่บนถนนสรรพวุธ ใกล้กับซอยวัดบางนานอก เปิดยาวๆ ทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-19.00 น.เลย ใกล้กันยังมี สรรพกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าประจำย่านให้ตุนทั้งของสดของแห้งและยังมีพายไก่เป็นเมนูแนะนำอีกด้วย เดินลึกเข้าไปในซอยข้างกันแถบท่าเรือวัดบางนานอกตกเย็นแล้วบรรยากาศดีเชียวแหละ

ห้องสมุดบ้านจิรายุ-พูนทรัพย์
ห้องสมุดบ้านจิรายุ-พูนทรัพย์

หากพูดถึงฟากฝั่งของสายเก๋าก็ต้องที่ ห้องสมุดบ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ ห้องสมุดชุมชนที่ยังคงให้ความรู้สึกมีชีวิต ไม่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา และที่นี่ยังแบ่งพื้นที่จัดวางหนังสือให้มี Co-working space สำหรับมานั่งทำงานในบรรยากาศสงบ ส่วนหนึ่งที่แตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปคือการเก็บรักษาเอกสารเก่าและหนังสือของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจาก ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ และ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ก่อตั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ รวมถึงเป็นผู้ถวายบ้านและที่ดินให้แก่กรมสมเด็จพระเทพฯ ก่อนที่จะมีพระราชานุญาตให้จัดสร้างห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2552 โดยปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร

ห้องสมุดบ้านจิรายุ-พูนทรัพย์

บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนนั่นคือห้องสมุดที่ตั้งอยู่ส่วนหน้าและด้านหลังเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ เอกสารต้นฉบับลายมือ หนังสือ และสิ่งพิมพ์ภาพถ่ายที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ด้านภาษาหลายเหตุการณ์ อาทิ การจัดตั้งวันภาษาไทย (29 กรกฎาคมของทุกปี) ขึ้นมาใน พ.ศ. 2542 ขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการรณรงค์ภาษาไทย แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสาเหตุที่เป็นวันที่ 29 ก็เพราะวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงอภิปรายเรื่องปัญหาการใช้คำไทย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางคณะกรรมการจึงยึดถือวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทย

SUNA ว่าดี Tour
SUNA ว่าดี Tour

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของทัวร์ที่เราหยิบยกมาเป็นน้ำจิ้มเท่านั้น ใครอยากเจอเจ้าบ้านตัวจริงก็สามารถไปจอยทริปได้ แต่หากใครไม่สะดวกในวันจัดทัวร์ทาง SUNA ก็ได้ครีเอต BINGO สนุกๆ มัดรวม 24 สถานที่ในลิสต์ของดีมาให้ไปตามรอยกัน ใครพร้อมวันไหนก็จิ้มลิงก์ BINGO แล้วออกเดินทางไปซัปพอร์ตเพื่อนบ้านชาวสุนาเนียนกันได้เลย 

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม