รัฐผนึกเอกชน LINE MAN Wongnai ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ “อาหารไทย” จากโลคอลสู่โกลบอล
Lite

รัฐผนึกเอกชน LINE MAN Wongnai ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ “อาหารไทย” จากโลคอลสู่โกลบอล

Focus
  • อาหารไทยเป็น 1 ใน 11 สาขาอุตสาหกรรมที่ถูกเลือกมาเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทยในปี 2567-2573 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.6%
  • การจับมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยก็เป็นอีกสิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเช่นเดียวกับความร่วมมือกับ LINE MAN Wongnai ในการประกาศรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2024 ซึ่งได้เพิ่มรางวัลสุดยอด Soft Power อาหารไทย และ รางวัลสุดยอดร้านอาหารประจำภูมิภาค

“เมื่อพูดถึงอาหารไทย คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสำคัญที่มีเสน่ห์โดยเฉพาะการดึงดูดใจชาวต่างชาติ ด้วยความโดดเด่นทางรสชาติอาหารที่หลากหลาย และเอกลักษณ์ของวัตถุดิบไทยที่ทำให้รสชาติของเมนูอาหารไทยไม่เหมือนที่ใดในโลก และด้วยความโดดเด่นนี้เรียกได้ว่า อาหารไทยนั้น ถือเป็นสื่อกลางสำคัญที่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมที่สร้าง ซอฟต์พาวเวอร์ ให้กับประเทศไทย สร้างความภูมิใจไกลไปทั่วโลก”

ซอฟต์พาวเวอร์

แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึง อาหารไทย 1 ใน 11 สาขาอุตสาหกรรมที่ถูกเลือกมาเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดย อาหารไทย เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ถูกจับตาว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น เรือธง ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในปี 2567 ทั้งจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยเพื่อลิ้มรสเมนูเด็ด ร้านดัง ทั้งจากมูลค่าความสำเร็จในการส่งออกร้านอาหารไทย เชฟไทย และวัตถุดิบไทยไปยังต่างแดน โดย แพทองธาร ชินวัตร  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ร้านอาหารไทย และอาหารไทย ยังสามารถเป็นสื่อกลางที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมและซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาอื่น ๆ ควบคู่กันไปได้อีกด้วย

ซอฟต์พาวเวอร์
แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลมีการตั้งเป้าสร้างรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่เรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ จาก 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2565 เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 2570 โดยในหมวดอาหารนั้น Krungthai COMPASS ได้ทำการประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมให้กับสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารไทยในช่วงปี 2567 -2573 ได้ราว 75,800 ล้านบาท เฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทยในปี 2567-2573 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.6% โดยมีหัวใจสำคัญคือ การร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน ในการผลักดันและยกระดับอาหารไทยในทุกมิติ

ซอฟต์พาวเวอร์

จากโลคอล สู่โกลบอล

ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนนั้น เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้ให้ข้อมูลถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารที่ภาครัฐจับมือกับภาคเอกชนดำเนินการอย่างเร่งด่วนว่า “ความร่วมมือกับภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญมากในการช่วยผลักดันและต่อยอด ซอฟต์พาวเวอร์ อาหารไทย อย่างโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ที่ทางภาครัฐมีการพัฒนาเชฟชุมชน และต่อยอดสู่ร้านอาหารในท้องถิ่น ก็ต้องอาศัยกำลังของภาคเอกชนในการช่วยโปรโมตร้านเล็กๆ เหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งการมอบรางวัล Users’ Choice ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้ร้านเหล่านี้รักษามาตรฐาน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายยังสามารถต่อยอดร้านอาหารสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรีของ LINE MAN ที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ”

สำหรับโรดแมปในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ตั้งเป้าอบรมและยกระดับเชฟชุมชนทั่วประเทศราว 75,000 คน ต่อด้วยการยกระดับ ร้านอาหารชุมชน” ในทุกพื้นที่ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน อย่าง LINE MAN Wongnai  มีการมอบรางวัล Users’ Choice เป็นแรงจูงใจ และก่อให้เกิดการแข่งขันให้ร้านรักษามาตรฐาน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงร้านอาหารในท้องถิ่นผ่านฟู้ดเดลิเวอรีที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ และสุดท้ายสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการพารสชาติไทยไปสู่ “เวิลด์ทัวร์” โปรโมตอาหารไทยในระดับโลก ต่อยอดสู่การส่งออกวัตถุดิบไทย เครื่องปรุง เครื่องแกงไทย ไปยังต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจในฟากของผู้ผลิต และเกษตรกรไปควบคู่กัน

เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร

เชฟชุมพล แจ้งไพร ให้ข้อมูลปิดท้ายในส่วนของการพัฒนาอาหารและเชฟในท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ย้ำว่าตอนนี้อาหารท้องถิ่นกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากๆ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวที่มาไทยอยากลิ้มลองรสชาติไทยแท้ อยากรู้จักเมนูในท้องถิ่นแบบที่คนในแต่ละท้องถิ่นกิน ดังนั้นการยกระดับเชฟชุมชนและร้านอาหารท้องถิ่นจึงเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน บลู เอเลเฟ่นท์ ตำนานร้านอาหารไทยที่ไปโด่งดังในต่างแดนกว่า 40 ปี และปัจจุบันยังเปิดคลาสสอนทำอาหารไทย ได้เสริมถึงความเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ของอาหารไทยว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศไทย แต่ยังขยายไปสู่ระดับครัวโลก เครื่องเทศไทย เครื่องแกงไทย เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น รวมทั้งประสบการณ์การเรียนทำอาหารไทยก็กลายมาเป็นหมุดหมายของกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้

“อย่าง บลู เอเลเฟ่นท์ เป็นร้านอาหารไทยที่เปิดในต่างประเทศมากว่า 40 ปี เราเห็นกระแสความนิยมของอาหารไทยที่เพิ่มขึ้น ยิ่งมีการผลักดันอาหารไทยสู่ครัวโลก ผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ระดับชาติก็ยิ่งช่วยให้อาหารไทยเข้าไปอยู่ในครัวโลกได้ครบทุกมิติมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเราขยายงานไปสู่การส่งออกเครื่องแกงใน 45 ประเทศ มีโรงเรียนสอนทำอาหารซึ่งลูกค้าหลักเป็นชาวจีน เอเชีย รองลงมาก็ยุโรป เขาไม่ได้แค่อยากมากินอาหารไทย แต่ประสบการณ์ด้านอาหารไทยที่หลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้นคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้เราสามารถเล่าถึงวัฒนธรรมการกิน วัตถุดิบ ประวัติศาสตร์ด้านอาหารควบคู่ไปได้ด้วย”

จับมือเอกชนยกระดับ “ซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย”

ในประเด็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน ที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนอาหารไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์เรือธงในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น มีโมเดลความสำเร็จมาให้เห็นชัดเจนในต่างประเทศ เช่นที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างเกาหลีใต้ ที่ภาครัฐสนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารผ่าน K-entertainment ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง จนเกิดฐานแฟนคลับทั้งฝั่งบันเทิงและอาหาร K-food ที่เหนียวแน่นไปพร้อมๆ กัน พิสูจน์ด้วยการสร้างตัวเลขการส่งออกด้านอาหารแบบ New High ได้ทุกครั้งที่ซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ กำลังเป็นกระแส แม้ K-entertainment เหล่านั้นจะไม่ได้มีเนื้อหาด้านอาหารโดยเฉพาะ ทว่าก็จุดประกายความหิวให้ผู้คนทั่วโลกได้ในทันที

ซอฟต์พาวเวอร์

สำหรับประเทศไทยนั้น แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวว่ากำลังมีการนำอาหารไทย สินค้าชุมชน ไปผูกเข้ากับซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่น ๆ อย่าง ซีรีส์วาย ที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มงานไปแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดนำ อาหารไทย มาเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่เข้าใจง่ายสำหรับชาวต่างชาติ “เวลาต่างชาติเข้าไปในร้านอาหารไทย เขาจะได้เรียนรู้ภาษาไทยผ่านเมนู รู้จักเสื้อผ้า การตกแต่งร้านแบบไทย เพลงไทยที่ร้านเปิด วิธีการกินข้าวแบบไทยที่เป็นการ Sharing กัน หรือการกินเป็นสำรับ ทำให้นอกจากมากินข้าวก็จะได้รู้จักเสน่ห์ของไทยได้อีกหลายอย่างเลย”

ข้าวเหนียวมะม่วงป้าเล็ก – ป้าใหญ่ (วงเวียน 22)

หนึ่งในตัวอย่างการนำอาหารไทยซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทยในด้านอื่น ๆ ก็เช่น ข้าวเหนียวมะม่วงป้าเล็ก – ป้าใหญ่ (วงเวียน 22) ซึ่งเปิดบริการมากว่า 80 ปี ที่นี่เปิดขายข้าวเหนียวมะม่วงปีละครั้งตามฤดูกาลเฉพาะเดือนมกราคม – มิถุนายน ซึ่งทางร้านไม่ได้เพียงแค่ขายรสชาติความอร่อย แต่ยังได้บอกเล่าถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจากเกษตรกรไทย และวัฒนธรรมอาหารหน้าร้อนของไทยที่ทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงกลายเป็นเมนูประจำฤดูกาลที่มีให้กินเพียงปีละครั้ง โดยทายาทรุ่นที่ 4 ได้เปิดเผยสูตรลับความอร่อยว่า ทางร้านเลือกใช้เฉพาะข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากเชียงราย และใช้เฉพาะข้าวต้นฤดู รวมทั้งเลือกใช้เฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งตรงจากสวนที่บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จากเดิมที่มีลูกค้าเฉพาะคนไทย ต่อมาเมื่อข้าวเหนียวมะม่วงกลายเป็นเมนูซอฟต์พาวเวอร์ก็มีลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ยอมมาต่อคิวรอนาน 3-4 ชั่วโมง และปักพิกัดข้าวเหนียวมะม่วงป้าเล็ก – ป้าใหญ่ เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ต้องมาชิมให้ได้สักครั้งเมื่อมาประเทศไทย

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai

นอกจากการนำซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่น ๆ มาผูกเข้ากับอาหารแล้ว การจับมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยก็เป็นอีกสิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเช่นเดียวกับความร่วมมือกับ LINE MAN Wongnai ในการประกาศรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2024 คัดเลือกร้านอาหาร 600 ร้าน จากจำนวน 1.6 ล้านร้านทั่วไทย ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มเติมหมวดรางวัลใหม่เพื่อสอดรับกับนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารของทางรัฐบาล ได้แก่ รางวัลสุดยอด Soft Power อาหารไทย และ รางวัลสุดยอดร้านอาหารไทยประจำภูมิภาค

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า  “รางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice มีมายาวนาน 11 ปี และสำหรับปีนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการสร้างมาตรฐานร้านอาหารท้องถิ่นและเชฟท้องถิ่นตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร เราจึงได้เพิ่มเติมหมวด รางวัลสุดยอด Soft Power อาหารไทย ที่เป็นเมนูยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น กะเพรา ส้มตำ หมูกระทะ ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง ชาไทย และ รางวัลสุดยอดร้านอาหารประจำภูมิภาค เพื่อสนับสนุนร้านอาหารท้องถิ่น ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนเราอยากผลักดันรางวัลนี้ให้ช่วยยกระดับร้านอาหารไทยทั่วประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย และเชฟไทยไปอีกขั้น รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อาหารไทยเป็นเรือธง ซอฟต์พาวเวอร์ ได้อย่างแท้จริง”

อ้างอิง : บทวิเคราะห์ Soft Power อาหารไทย ฟันเฟืองใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"