VDO

เจาะลึกการทำงานของ นักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือที่ใครๆ ก็เรียกว่า นักสืบโรค

นอกจากแพทย์ พยาบาล ที่เป็นแนวหน้าในการทำงานรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว อีกอาชีพที่ทำงานอย่างหนักในทันทีที่มีการส่งสัญญาณการระบาดของโรคมาจากประเทศจีนก็คือ นักระบาดวิทยา ซึ่งในประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่มีหลักสูตรนักระบาดวิทยาภาคสนาม ต่อจากสหรัฐอเมริกา และนั่นก็แปลว่าประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมการรับมือโรคระบาดมาก่อนหน้านั้น และมีการฝึกซ้อมมาตลอดร่วม 40 ปี

“ชีวิตของ นักระบาดวิทยา ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเรามีการฝึกซ้อมด้านระบาดวิทยาอยู่แล้วในทุกๆ วัน อย่างที่กรมควบคุมโรค เรามีหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า หน่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ เรามีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคเข้าไปรับข้อมูลจากทุกๆ พื้นที่ในประเทศไทย เอามาวิเคราะห์เพื่อดูและจับสัญญาณการระบาดของโรค ทุกๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคติดต่อทางอากาศ ถ้าเราเจอสัญญาณของโรคเมื่อใด เราก็จะส่งอีกทีมหนึ่งเรียกว่า ทีมสอบสวนโรค เข้าไปสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของโรค เรามีการฝึกซ้อมอย่างนี้ในทุกๆ วัน ในทุกๆ พื้นที่ของประเทศอยู่แล้ว 

“ทีมงานด้านระบาดวิทยาที่ทำงานในตอนนี้ไม่ได้ถูกเซ็ตอัพมาใหม่ในช่วง โควิด-19 แต่งานระบาดวิทยา นักระบาดวิทยา ในเมืองไทยถูกฝึกฝนมาหลายสิบปี และเราก็ทำอย่างนี้ด้วยมาตรฐานอยู่ทุกๆ วัน ดังนั้นช่วงสถานการณ์ โควิด-19 จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต นักระบาดวิทยา มากนัก ยกเว้นแต่ว่าวงจรชีวิตเราอาจจะยาวนานขึ้น นอนน้อยลง แต่วิธีการทำงานเรายังใช้ทักษะที่ได้ฝึกซ้อมทุกวันมาทำงาน” Sarakadee Lite ชวน นายแพทย์ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม และ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมด้านสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค มาพูดคุยทำความรู้จักศาสตร์ที่เรียกว่า “ระบาดวิทยา” พร้อมเจาะลึกการทำงานของ “นักระบาดวิทยาภาคสนาม” หรือที่ใครๆ ก็เรียกว่า นักสืบโรค ผู้ที่ต้องทำงานคู่ขนานเพื่อสนับสนุนงานของทีมแพทย์ พยาบาล ในด้านการรักษา รวมทั้งลงมือสืบเสาะเพื่อตัดตอนการแพร่ระบาดของโรคให้เร็วที่สุด