ประวัติศาสตร์อาหารการกิน ที่ซ่อนไว้ใน “ตะเกียบ”
Arts & Culture

ประวัติศาสตร์อาหารการกิน ที่ซ่อนไว้ใน “ตะเกียบ”

Focus
  • ตะเกียบ คำนี้มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีใช้มาในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง “สามก๊ก” ตอนที่โจโฉคุยกับเล่าปี่ เล่าปีตกใจเรื่องที่โจโฉเล่าจนถึงขั้นทำตะเกียบพลัดตกจากมือ
  • ตะเกียบเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร ของชาวจีนและชนชาติเอเชียมาช้านาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือตะเกียบอายุกว่า 3,200 ปีซึ่งถูกขุดค้นพบที่สุสานในประเทศจีน

ตะเกียบ ชื่อนี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในวัฒนธรรมอาหารของชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือฟากฝั่งเอเชียเท่านั้น แต่ตะเกียบยังได้แพร่หลายกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญบนโต๊ะอาหารของคนในอีกหลายมุมของโลกไม่ต่างจากช้อน ส้อม Sarakadee Lite มีความลับสนุกๆ ของตะเกียบมาเล่าให้ฟัง

  • ตะเกียบ คำนี้มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีใช้มาในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง “สามก๊ก” ตอนที่โจโฉคุยกับเล่าปี่ เล่าปีตกใจเรื่องที่โจโฉเล่าจนถึงขั้นทำตะเกียบพลัดตกจากมือ ซึ่งคำว่า ตะเกียบ ไม่ใช่ภาษาจีน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำจีนว่า “เต็กเกี้ย” หมายถึง ซี่ไม้ไผ่เล็กๆ หรือไม่ก็ “เต็กโก่ย” หมายถึงไม่ไผ่ที่ใช้คีบ แต่ที่ใกล้เคียงการออกเสียงฉบับไทยที่สุดน่าจะมาจากคำว่า “เต็กเกี๊ยบ” ที่แปลว่า ไม้คีบ นั่นเอง
  • ตะเกียบเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวจีนและชนชาติเอเชียมาช้านาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือการขุดพบตะเกียบอายุกว่า 3,200 ปี ในสุสานประเทศจีน ทั้งยังมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า จักรพรรดิองค์สุดท้ายในสมัยราชวงศ์ซางใช้ตะเกียบที่ทำจากงาช้างตั้งแต่เมื่อประมาณ 1,100  ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะมีการใช้งานตะเกียบไม้ และตะเกียบไม้ไผ่ก่อนหน้านั้นอีกราวๆ 1,000 ปี
  • ตะเกียบที่ใช้งานกันในปัจจุบันมีหลายลักษณะ ตะเกียบยาว สำหรับการประกอบอาหาร ตะเกียบสั้นใช้เพื่อการรับประทานโดยเฉพาะ ด้านตะเกียบจีนส่วนใหญ่เป็นแท่งตรงใช้ ขณะที่ตะเกียบญี่ปุ่นมักมีปลายเรียวเล็กซึ่งออกแบบมาให้คีบก้างออกจากเนื้อปลาได้ง่าย ส่วนตะเกียบของฝั่งเกาหลีใต้มักทำด้วยโลหะ เช่นเดียวกับชามใส่ข้าว ตัวตะเกียบมีความแบนไม่ได้เหลาให้กลมทั้งด้าม เพิ่มความยากในการคีบให้ผู้ที่ไม่คุ้นชิน
  • ในปีหนึ่งๆ ประเทศจีนผลิต ตะเกียบไม้ราว 45 ล้านคู่ เทียบเท่ากับต้นไม้ที่เป็นวัตถุดิบ ต้นทางจำนวน 25 ล้านต้น โดยมากกว่าครึ่งของทั้งหมดถูกส่งออกไปขายในประเทศญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบันจีนก็ยังครองแชมป์ ผู้ผลิตตะเกียบรายใหญ่ที่สุดของโลก
  • วิวัฒนาการอย่างหนึ่งของตะเกียบที่เห็นได้ชัดคือการเกิดขึ้นของตะเกียบใช้แล้วทิ้ง และอัตราการบริโภคตะเกียบใช้แล้วทิ้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในร้านหมูกระทะชาบูสุกี้ของไทย ทำให้อายุการใช้งานของตะเกียบแต่ละคู่สั้นลง เหลือเพียงช่วงเวลา สำหรับ 1 อิ่มเท่านั้น  กลายเป็นความไม่คุ้มค่าของทรัพยากร และพลังงานที่ใช้ไปในทุกขั้นตอนการผลิตก่อนที่ตะเกียบคู่หนึ่งจะเดินทางถึงมือและปากของผู้บริโภค
  • ญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้ตะเกียบประเภทใช้แล้วทิ้งสูงมากในแทบจะทุกร้านอาหาร เคยมีการบันทุกไว้ว่าญี่ปุ่นใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งสูงถึง 20,000 ล้านคู่ต่อปี เหตุผลหนึ่งอาจด้วยต้นทุนทำตะเกียบที่ถูกแสนถูกจากไม้สนในประเทศจีน อินโดนีเซีย แต่กระนั้นก็มีกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ออกมาต่อต้านวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบแบบนี้
  • ตะเกียบไม่ใช่แค่อุปกรณ์หยิบจับอาหาร แต่ในฝั่งเอเชียยังมีความเชื่อมากมายที่มาพร้อมลักษณะการใช้ตะเกียบ เช่น ชาวจีนโบราณเชื่อว่า ชายคนใดถือตะเกียบค่อนไปทางตอนบนจะได้แต่งงานกับผู้หญิงที่อยู่ห่างไกลออกไป ถ้าจับตะเกียบตรงกลางจะได้ภรรยาที่อยู่ไม่ไกลตัวมากนัก และถ้าจับส่วนปลายจะได้ภรรยาใกล้ตัว ส่วนในญี่ปุ่นนั้นทุกวันปีใหม่จะต้องใช้ตะเกียบไม้สนเพื่อความเป็นสิริมงคลอายุยืนเหมือนกับไม้สน อีกทั้งคนญี่ปุ่นยังไม่คีบอาหารต่อจากตะเกียบคนอื่น และไม่ใช้ตะเกียบที่ทำจากวัสดุคนละประเภทในคู่เดียวกันมาคีบอาหารอย่างเด็ดขาด
  • กระแสต่อต้านการใช้ตะเกียบไม้ครั้งเดียวทิ้งเกิดขึ้นในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกปี 2008 และ จีนก็รับมือด้วยการขึ้นภาษีตะเกียบไม้อีก 5 เปอร์เซ็นต์  ทว่ามันก็ยังเป็นที่ต้องการของร้านอาหารจำนวนมาก เพราะทั้ง สะดวกใช้ ไม่ต้องล้าง แถมพ่วงภาพลักษณ์ที่ดูสะอาดปลอดภัย กว่าตะเกียบใช้ซ้ำ 

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ฉบับ กันยายน 2553 และ มิถุนายน 2538