โมนาลิซา อาจไม่ได้เป็นมาสเตอร์พีซของ ดาวินชี หากไม่มีเหตุโจรกรรมปี 1911
Arts & Culture

โมนาลิซา อาจไม่ได้เป็นมาสเตอร์พีซของ ดาวินชี หากไม่มีเหตุโจรกรรมปี 1911

Focus
  • 21 สิงหาคม ค.ศ.1911 เป็นวันที่ ภาพวาด โมนาลิซา ถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ว่ากันว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพ โมนาลิซา กลายเป็นภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินชาวอิตาลี
  • โมนาลิซา ในภาพวาดมีตัวตนอยู่จริงคือ ลิซา เดล จิโอกอนโด หรือ คุณนายจิโอกอนโด ตามนามสกุลสามีของเธอ ฟรานเซสโก เดล จิโอกอนโด ขุนนางในเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งได้ว่าจ้างให้ เลโอนาร์โด ดาวินชี วาดภาพเหมือนภรรยาของเขาไว้เป็นที่ระลึก

21 สิงหาคม ค.ศ.1911 เป็นอีกวันที่วงการศิลปะโลกต้องจารึกกับเหตุการณ์โจรกรรมภาพวาด โมนาลิซา ขณะจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่ากันว่าก่อนหน้านั้นภาพ โมนาลิซา (Mona Lisa) หรืออีกชื่อคือ ลา จิโอกอนดา (La Gioconda) ซึ่ง เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) หรือ ดาวินชี ศิลปินชาวอิตาลีวาดไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1507 ไม่ได้เป็นภาพชิ้นเอกที่โด่งดังเมื่อเทียบกับภาพอิงศาสนาอย่าง The Last Supper และ ภาพ Virgin of the Rocks (หรือเรียกอีกชื่อว่า Madonna of the Rocks) ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินคนเดียวกัน กระทั่งในเช้าวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1911 เมื่อภาพหญิงสาวที่แขวนอยู่บนกำแพงหายไปจากห้องจัดแสดง และกว่าที่จะมีคนสังเกตเห็นว่าที่ว่างบนผนังตรงนี้เคยมีบางสิ่งบางอย่างแขวนอยู่ก็กินเวลากว่า 48 ชั่วโมง

ดาวินชี

มีชายชาวอิตาลี 3 คน ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ขโมยภาพวาดโมนาลิซาออกจากพิพิธภัณฑ์ และสื่อทั่วโลกต่างก็ตีข่าวการขโมยงานศิลปะชิ้นนี้ เช่นเดียวกับ นิวยอร์ก ไทมส์ สื่อดังของฝั่งอเมริกาที่ได้ให้รายละเอียดเปิดเผยชื่อผู้ที่อาจจะเป็นผู้ต้องสงสัยเบื้องหลังการขโมยภาพซึ่งมีตั้งแต่มหาเศรษฐี เจ. พี. มอร์แกน (J.P. Morgan) หรือแม้แต่ศิลปินดังร่วมสมัยอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ก็ตกเป็นข่าวลือว่าอาจจะอยู่เบื้องหลัง เรื่องลุกลามไปถึงการเมืองระหว่างประเทศระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีที่กำลังตึงเครียด (ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1) ทำให้เกิดการแพร่สะพัดข่าวว่าผู้นำเยอรมนีอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และนั่นยิ่งทำให้นักสะสม ผู้คนในวงการศิลปะ และประชาชนทั่วไปอยากที่จะรู้จักภาพวาดโมนาลิซามากขึ้นว่าทำไมความงามของหญิงสาวในภาพจึงดึงดูดใจให้มีคนกล้าขโมยออกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

ดาวินชี
ภาพวาดโมนาลิซาในแกลเลอรี Uffizi  เมืองฟลอเรนส์หลังจากถูกขโมยไป

หลังจากที่ภาพวาดโมนาลิซาหายไป พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ก็ปิดทำการนานหนึ่งสัปดาห์เพื่อสอบสวนเรื่องนี้ และเมื่อเปิดทำการอีกครั้งกลับพบว่ามีประชาชนแห่ไปดูจุดแขวนภาพโมนาลิซา ซึ่งกลายเป็นผนังที่ว่างเปล่าอย่างล้นหลาม และในที่สุดคดีก็คลี่คลายหลังเวลาผ่านไปนาน 28 เดือน โดยจอมโจรครั้งประวัติศาสตร์คือ วินเชนโซ เปรูจา (Vincenzo Perugia) ชายชาวอิตาลีผู้ทำงานเป็นช่างติดกระจกนิรภัยงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ และภาพโมนาลิซาก็เป็นภาพเขียนสีบนแผ่นไม้ขนาดเล็กที่สามารถซุกซ่อนนำออกไปได้ง่าย แต่ด้วยความที่ข่าวนี้ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก ทำให้ วินเชนโซ เปรูจา ต้องซุกซ่อนภาพนี้ไว้ในห้องพักที่ปารีสกระทั่งเวลาผ่านไป 28 เดือน (2 ปี 4 เดือน) เขาจึงแอบนำภาพโมนาลิซาไปขายให้กับอาร์ตดีลเลอร์ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี  แน่นอนว่าพ่อค้าคนกลางไม่เชื่อว่านี่คือรูปจริง และต้องให้ผู้จัดการหอศิลป์แห่งหนึ่งในเมืองฟลอเรนซ์ที่มีความเชี่ยวชาญมาตรวจดูผนึกหลังภาพให้ชัดเจน แต่แทนที่จอมโจรขโมยภาพจะได้เงิน เขากลับถูกตำรวจตามมารวบตัวถึงบ้านพักที่ฟลอเรนซ์ และติดคุกอยู่นาน 8 เดือน โดยวินเชนโซ เปรูจา ให้เหตุผลในการขโมยรูปนี้ว่า เพราะเขาอยากจะนำพาหญิงสาว โมนาลิซา คืนสู่อิตาลีซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของงานศิลปะชิ้นนี้ ที่เขาทำลงไปก็ด้วยสำนึกรักชาติและเห็นว่าภาพนี้ถูกนโปเลียน (ผู้นำฝรั่งเศส) ขโมยไป 

โมนาลิซา
วินเชนโซ เปรูจา (Vincenzo Perugia)

จากนั้นภาพวาด โมนา ลิซา ก็ได้กลับมาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์อย่างถาวรอีกครั้ง พร้อมชื่อเสียงที่โด่งดังขึ้นกว่าเดิมและขึ้นแท่นเป็นงานมาสเตอร์พีซของ ดาวินชี ที่คนทั่วโลกต้องมาชม และเป็นภาพวาดที่มีการค้นพบรหัสลับ พบข้อสันนิษฐานมากมายที่ยังไม่สามารถคลี่คลายได้จนถึงปัจจุบัน

10 เรื่องเบื้องหลังภาพ โมนาลิซา

1. ฟรานซิสโก เดล จิโอกอนโด ขุนนางในเมืองฟลอเรนซ์ได้ว่าจ้างให้ ดาวินชี วาดภาพเหมือนภรรยาของเขาไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งสตรีผู้นั้นมีนามว่า ลา จิโอกอนโด (La Giocondo) หรือ ลิซา เดล จิโอกอนโด (Lisa del Giocondo) สตรีอายุราว 24-25 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีทฤษฎีโต้แย้งอีกมากมายว่าหญิงสาวผู้นั้นอาจจะเป็นแม่ของดาวินชี บ้างก็ว่าเป็นการวาดพอร์ตเทรตตัวเขาเองในมุมมองของผู้หญิง รวมทั้งมีการตีความว่าผู้หญิงในรูปกำลังป่วยด้วยการเลือกเฉดสีของผิวที่ซีดเหลือง

2. เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใครคือผู้ว่าจ้างและใครคือนางแบบตัวจริงในภาพวาดโมนาลิซา จึงมีข้อสันนิษฐานอีกกระแสหนึ่งว่า ภาพนี้คนจ้างวาดอาจไม่ใช่ ฟรานซิสโก เดล จิโอกอนโด แต่เป็น จูเลียโน เดอ เมดิชี (Giuliano de’ Medici) คนในตระกูลเมดิชีที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลแห่งยุค ซึ่งได้จ้างให้ดาวินชีวาดภาพเหมือนแบบลับๆ อีกกระแสก็บอกว่าผู้จ้างอาจจะเป็น ฟรานซิสโก เดล จิโอกอนโด จริงๆ แต่นางแบบคือภรรยาลับของเขาที่ชื่อ ลิซา เกอร์ราร์ดินี (Lisa Gherardini) ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพนี้ยังอยู่กับดาวินชีและยังไม่ได้มีการส่งมอบให้ผู้ว่าจ้าง

3. ภาพวาดโมนาลิซามีขนาดภาพ 77×53 เซนติเมตร เป็นผลงานชิ้นเอกแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือ เรเนซองส์ (Renaissance) ดาวินชีเริ่มวาดโมนาลิซาใน ค.ศ.1503 มีการหยุดวาดและกลับมาวาดต่อจนเสร็จในปี ค.ศ.1519 เป็นภาพเหมือนหญิงสาวที่มีตัวตนจริง วาดเพียงครึ่งตัวโดยใช้เทคนิคภาพวาดสีน้ำมันบนไม้ ฉากหลังหญิงสาวเป็นวิวทิวทัศน์ในระยะไกล ทำให้ภาพมีบรรยากาศและดูมีชีวิตชีวาซึ่งถือเป็นแนวคิดด้านศิลปะที่ใหม่มากในยุคนั้น  ทั้งนี้ภาพวาดโมนาลิซายังได้สะท้อนปรัชญาการวาดภาพในยุคเรเนซองส์ที่เปลี่ยนศูนย์กลางจากเทพเจ้ามาเป็นมนุษย์  มีการใส่แนวคิดมนุษยนิยม ปรัชญา และแนวคิดที่เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น

4. ในภาพโมนาลิซานี้เห็นได้ชัดว่า ดาวินชี ได้มีพัฒนาการด้านงานศิลปะ เขาใส่แนวคิดและเทคนิคสมัยใหม่ลงไปในการวาดภาพเหมือนของสตรี โดยเฉพาะการวางท่าทาง การสะท้อนความรู้สึกบนใบหน้าและสายตาที่มากขึ้น มีการวางมือทับกันอย่างนุ่มนวล ประสานกับท่าทางที่สัมพันธ์กับความรู้สึกโดยรวมของภาพ มีการควบคุมแสงเงา และอีกเอกลักษณ์สำคัญในงานนี้คือการไม่มีเส้นรอบนอกที่คมชัด ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของเลโอนาร์โด ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อการวาดภาพของศิลปินในยุคต่อๆ มา

โมนาลิซา
ภาพโมนาลิซาในวันที่คืนกลับสู่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

5. จากบันทึกของดาวินชี พบว่าเขาได้ใส่ใจกับขั้นตอนการทำงาน โดยเฉพาะการสร้างบรรยากาศในระหว่างที่วาดภาพ ตอนวาดภาพโมนาลิซา เขาจัดบรรยากาศห้องทำงานให้มีแสงสว่างตามธรรมชาติ และจ้างนักดนตรีมาบรรเลงดนตรีขณะวาดภาพ เพื่อให้นางแบบมีอารมณ์ที่แจ่มใสเบิกบาน

6. ภาพโมนาลิซาเป็นงานจ้างวาดที่ดาวินชีไม่ได้ส่งมอบให้ผู้จ้าง แต่ผู้วาดเลือกที่จะเก็บไว้เองและนำรูปติดตัวเมื่อเขาต้องย้ายถิ่นพำนักจากอิตาลีไปฝรั่งเศส และในปี ค.ศ.1519 ดาวินชีก็ถึงแก่กรรมที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งภาพโมนาลิซาถูกพบอยู่ในสตูดิโอของเขาและดูเหมือนว่าดาวินชีจะค่อยๆ แต่งเติมภาพนี้ในหลากหลายช่วงเวลา ดังนั้นภาพนี้จึงมักถูกระบุช่วงเวลาการวาดไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1503-1519

7. ใน ค.ศ.1516 ภาพโมนาลิซาถูกขายให้กับพระเจ้าฟรองซัวที่ 1 ของฝรั่งเศส ซึ่งนั่นทำให้ภาพวาดโมนาลิซากลายเป็นสมบัติของราชสำนักฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายศตวรรษ ภาพวาดโมนาลิซาเคยถูกแขวนประดับพระราชวังต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส รวมทั้งพระราชวังแวร์ซาย และเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ภาพวาดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่ถูกยึดเป็นสมบัติของสาธารณรัฐฝรั่งเศส กระทั่งในปี ค.ศ.1793 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อสาธารณชน เปลี่ยนพระราชวังลูฟวร์เป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ ภาพวาดโมนาลิซาจึงได้ย้ายบ้านไปจัดแสดงถาวรในลูฟวร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

8. แม้ภาพโมนาลิซาจะถูกจัดแสดงในคอลเลกชันงานศิลปะของดาวินชีมากว่าร้อยปี แต่ภาพวาดโมนาลิซามิได้เป็นภาพที่โด่งดังที่สุดของเขา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาพอิงศาสนาอย่าง The Last Supper และ ภาพ Virgin of the Rocks กระทั่งใน ค.ศ.1911 เมื่อภาพโมนาลิซาถูกขโมยโดยชาวอิตาลีก็ทำให้ชื่อโมนาลิซาโด่งดังชั่วข้ามคืน

9. นอกจากดวงตาที่ลึกลับ เศร้าสร้อยแล้ว ความงดงามอีกอย่างบนภาพวาดโมนาลิซาคือ มือ ซึ่งมีความสวยงาม นุ่มนวล อีกทั้งการวางท่าและเส้นแสงเงาต่างๆ ซึ่ง ภาพนี้เป็นงานต่อเนื่องจากการศึกษา ฝึกฝน การวาดเส้น ในผลงานก่อนหน้านี้อย่าง Lady with an Ermine (วาดเมื่อปี ค.ศ.1485-1490) ซึ่งเป็นภาพที่ดาวินชีเริ่มให้ความสำคัญกับการวางท่าของแบบโดยใช้มือแสดงอารมณ์และความงาม

10. รอยยิ้มบนภาพวาดโมนาลิซาเป็นอีกปริศนาที่ผู้คนทั่วโลกต้องการมาเห็น แม้เป็นเพียงรอยยิ้มมุมปากบางๆ  แต่พอผู้ชมเปลี่ยนองศาการมองจะทำให้อารมณ์ของภาพแตกต่างกันไป แต่ในขณะเดียวกันดวงตาของโมนาลิซาที่ดูเศร้าและลึกลับกลับสบตากับผู้ชมอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะมองจากองศาไหน ซึ่งนี่คือเสน่ห์ที่ทำให้ภาพโมนาลิซากลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะในฝันที่ผู้คนต่างตั้งมั่นว่าต้องมาชมให้ได้สักครั้งในชีวิต

Fact File

  • ภาพโมนาลิซามีชื่อเรียก คำสะกด และออกเสียงที่หลากหลายมากทั้งในภาษาอิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ มีการเรียกภาพตามชื่อ และตามนามสกุลสามีของเธอ ได้แก่ “Monna Lisa, la Gioconda”  “Mona Lisa” “La Giaconda” “La Joconde
  • ค.ศ.1963 ลูฟวร์ให้แกลเลอรีในสหรัฐอเมริกา ยืมภาพวาดโมนาลิซา ของจริงไปจัดแสดงนอกลูฟวร์เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นใน ค.ศ.1974 ลูฟวร์ให้ประเทศญี่ปุ่น ยืมภาพวาดโมนาลิซาของจริงไปจัดแสดง ให้สาธารณชนชาวญี่ปุ่นได้ชม

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป