ลายแทง อาหารอินเดีย ฉบับสตรีท ซอกแซกย่าน Little India
Arts & Culture

ลายแทง อาหารอินเดีย ฉบับสตรีท ซอกแซกย่าน Little India

Focus
  • ชาวอินเดียซึ่งเดินทางมาประกอบอาชีพค้าผ้าคนแรกในสยามเป็นชาวซิกข์ เข้ามาค้าขายในสยามสมัยรัชการที่ 5
  • ชื่อถนน “พาหุรัด” มาจาก “พาหุรัดมณีมัย” พระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
  • เที่ยวอินเดียแบบไม่ต้องตีตั๋วเครื่องบินข้ามประเทศ กับการซอกแซกย่าน Little India ใจกลางพาหุรัด แล้วปักหมุดร้าน อาหารอินเดีย ต้นตำรับหอมกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ

เที่ยวอินเดียแบบไม่ต้องตีตั๋วเครื่องบินข้ามประเทศ กับการซอกแซกย่าน Little India ใจกลาง พาหุรัด แล้วปักหมุดร้าน อาหารอินเดีย ต้นตำรับหอมกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ ที่ทำให้พอคลายคิดถึงการเดินทางเที่ยวต่างประเทศได้ไม่มากก็น้อย

เชฟร้าน Royal India

กรุงเทพฯ นั้นขึ้นชื่อเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรม นอกจากย่านชาวจีนอย่างเยาวราชแล้ว “พาหุรัด” ก็เป็นอีกย่านที่จะทำให้เราเหมือนทะลุมิติไปยังดินแดนภารตะของจริง แต่ทราบหรือไม่ว่าก่อนที่พาหุรัดจะเป็นย่านค้าขายของชาวอินเดีย ที่นี่เป็นถิ่นเก่าของชาวญวนมาก่อน กระทั้งมีการตัดถนนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวอินเดียที่ค้าขายผ้าอยู่แถบบ้านหม้อและวัดเกาะ (สัมพันธวงศ์) ก็ย้ายเข้ามาค้าขายในย่านนี้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินเดียซิกข์และฮินดู ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากแคว้นปัญจาบทางตอนเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ที่รัฐบาลอังกฤษเสนอให้แบ่งอินเดียออกเป็น 2 ประเทศ หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ชาวอินเดียซึ่งเดินทางมาประกอบอาชีพค้าผ้าคนแรกในสยามเป็นชาวซิกข์ เข้ามาค้าขายในสยามสมัยรัชการที่ 5 ก่อนหน้านั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชาวซิกข์และฮินดูซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษเข้ามาทำงานเป็นโปลิศ  

อาหารอินเดีย
ขนมหวานร้านปัญจาบสวีท

สำหรับชื่อถนนว่า “พาหุรัด” นั้นมาจาก “พาหุรัดมณีมัย” พระนามเต็ม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. 2421-2430) พระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ใครยังนึกไม่ออกว่ามาพาหุรัดแล้วจะเริ่มต้นเที่ยวตรงไหน แนะนำให้มองหาโดมสีทองของวัดซิกข์ “คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา” ซึ่งสร้างใน พ.ศ. 2522 ที่นี่เปรียบเหมือนใจกลางของชาวอินเดียซิกข์ย่านนี้ อีกทั้งตรอกด้านข้างวัดยังเปรียบเสมือนประตูลับที่จะพาเราทะลุไปยังดินแดนภารตะที่อวนไปด้วยกลิ่นกำยาน เครื่องเทศ จัดจ้านด้วยสีสันของดอกไม้ ฉูดฉานด้วยขนมหวานในร้านน้ำชาแบบอินเดียแท้ๆ ที่สำคัญที่นี่ยังมีร้าน อาหารอินเดีย เก่าแก่หลายร้านให้ได้เลือกชิม

อาหารอินเดีย
วัดซิกข์จากมุมมองตรอกเล็กๆ ด้านหลังวัด

Royal India

ร้าน อาหารอินเดีย ในตำนานตั้งอยู่ในตรอกแคบๆ ฝั่งตรงข้ามวัดซิกข์ ที่นี่คือร้าน อาหารอินเดีย ที่เปิดบริการแห่งแรกในประเทศไทย ขายตั้งแต่เป็นหาบแร่จนมาเปิดร้านได้ก็นับอายุอานามได้กว่า 60 ปี

อาหารอินเดีย
อาหารแบบเช็ต

ด้านหน้า Royal India ขายขนมหวานอินเดีย ส่วนด้านในมีโต๊ะให้นั่งไม่เกิน 10 โต๊ะเล็ก ในช่วงกลางวันลูกค้าชาวอินเดียแน่นมากจนต้องยืนต่อคิวล้นมาด้านหน้าร้าน ซึ่งมีครัวแบบเปิดอยู่ด้านข้าง ให้คนยืนรอคิวได้เรียกน้ำย่อยกับกลิ่นหอมที่โชยมา พร้อมเพลิดเพลินไปกับจังหวะนวดแป้งของเชฟ และแม้จะมีเครื่องครัวทันสมัย แต่ที่นี่ยังย่างไก่หมักเครื่องเทศในเตาทันดูร์ ซึ่งเป็นเตาโอ่งใช้ย่างแป้งโรตีได้หอมไม่แพ้กัน

อาหารอินเดีย
ไก่หมักเครื่องเทศย่างในเตาทันดูร์

Royal India มีทั้งอาหารแบบจานเดี่ยว เช่น ไก่ย่าง แพะย่าง ปลา กุ้ง นำมาแกงกับเครื่องเทศ หรือหากเป็นมังสวิรัติก็มีแกงถั่วประเภทต่างๆ กินคู่แป้งนานและโรตี แต่ถ้าอยากลิ้มลองหลายๆ เมนูอย่างไม่แน่นท้องมากแนะนำให้สั่งชุดเซ็ตอาหารถาด ที่เรียก Thali มีทั้งแบบมีเนื้อสัตว์และไม่มีเนื้อสัตว์

ราสมาไลขนมหวานปิดท้ายมื้ออาหาร

เราเลือก Non Vegetarian Thali ที่ให้เลือกระหว่างไก่ย่างทันดูรี หรือจะเป็นแกงกระหรี่ไก่ แกงกะหรี่แพะ แกงเจ ส่วนแป้งก็เลือกได้ว่าจะเป็นโรตี นาน หรือปาปาดัม (คล้ายข้าวเกรียบ) ที่หอมอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อคือข้าวผัดยี่หร่า ตบท้ายอย่าลืมสั่งขนมที่อร่อยมากๆ และทำยากอย่าง “ราสมาไล” ชีสโฮมเมดเสิร์ฟเย็นกับนมสดโรยหน้าด้วยพิตาชิโอ ครบรสอินเดียขั้นสุด

ที่ตั้ง: ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 10.00 – 22.00 น.

ปัญจาบสวีท

หลังจากเข้าวัดซิกข์เสร็จแล้ว ชายชาวซิกข์มักจะมาพูดคุยจิบน้ำชากันต่อที่ร้านขนมหวานในตรอกข้างวัดซิกข์ และร้าน ปัญจาบสวีท ก็เป็นร้านขนมน้ำชาประจำตรอกที่นายห้างชาวซิกข์มักจะมารวมตัวกันจิบน้ำชา

แป้งโดซาของที่นี่ชิ้นใหญ่ล้นจาน

ด้านหน้าร้านเต็มไปด้วยขนมหวานสำหรับไหว้เทพเจ้า ซึ่งขนมหวานของอินเดียนั้นขึ้นชื่อว่าหวานมาก ทำจากมะพร้าว เนย น้ำตาล เป็นหลัก ขนมแต่ละชนิดก็จะสร้างสรรค์ไว้สำหรับไหว้เทพแต่ละองค์ต่างกันไป

พาหุรัด
เมนูลับปานี ปูริ

นอกจากขนมหวานแล้ว ปัญจาบสวีท ยังมีเมนูลับปานี ปูริ (Pani Puri) เป็นเมนูกินเล่นแบบอินเดียที่คนไม่ชอบเครื่องเทศแรงๆ ยังกินแล้วคอนเฟิร์มว่าอร่อย ปานี ปูริ เป็นขนมแป้งทอดทรงกลมบางกรอบมีรูตรงกลาง ใส่ถั่วและมันฝรั่งหั่นเป็นชิ้นเล็กลงไป เวลากินให้ตักน้ำสีเขียวใสรสเปรี้ยวสดชื่นหยอดลงไปตรงกลางกินให้หมดทั้งคำ ส่วนถ้าใครอยากกินแบบอิ่มท้องกว่านี้แป้งโดซาของที่นี่ชิ้นใหญ่ล้นจานออกมา สั่งแกงถั่วมากินคู่ก็อิ่มเป็นมื้อกลางวันได้เลย

ที่ตั้ง: ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 9.30-18.30

Tony’s Restaurant

เป็นร้าน อาหารอินเดีย เล็กๆ แบบโอเพนแอร์ที่ตั้งชิลอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง ถ้าเทียบกับร้านในย่านเดียวกันต้องบอกว่าอาหารอินเดียของโทนีราคามิตรภาพมาก ถ้าเป็นมังสวิรัตเริ่มต้นที่ 50 บาท ส่วนเนื้อสัตว์ก็อยู่ประมาณ 80-100 บาท เทียบกับวิวถนนคนเดินริมคลองโอ่งอ่างที่ทำใหม่แล้วบอกเลยว่าคุ้มมาก

พาหุรัด
พาหุรัด

ร้านนี้มีไม่กี่โต๊ะพร้อมพ่อครัวแค่สองคน อาหารจึงอาจจะออกช้านิดหน่อย แต่ด้วยความเป็นครัวเปิดทำให้ได้มองเห็นพ่อครัวทำอาหารไปเพลินๆ  

พาหุรัด

ส่วนเมนูไฮไลต์จะเป็นพวกแกงต่างๆ โดยเฉพาะมังสวิรัติดีงามมาก ไม่ว่าจะเป็น ผัดกระเจี๊ยบกับมันฝรั่ง แกงถั่วแดงถั่วดำในซอสมะเขือเทศ แกงเต้าหู้ชีสอินเดียในซอสมะเขือเทศ ผักโขมบดในซอสมะเขือเทศกับชัสก้อนอินเดีย เป็นต้น

ที่ตั้ง: ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 9.00-22.00 น.

หมากหวาน

ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อสักสิบปีก่อน ตรอกข้างวัดซิกซ์แห่งนี้จะมีโต๊ะเล็กๆ ตั้งขายหมากหวานอยู่หลายสิบโต๊ะ ปัจจุบันเหลือร้านเก่าแก่ขายแบบโต๊ะข้างทางก็มีร้านป้าจิซึ่งขายหมากเป็นคำๆ ละ 5 บาท บางคนสั่งซื้อหมากไปวางร่วมกับเครื่องไหว้เทพเจ้า

พาหุรัด
พาหุรัด

บางคนเดินตรงเข้ามาซื้อหมากเพื่อกินเป็นของว่าง หมากอินเดียจะต่างกับหมากของไทยตรงที่ใส่มะพร้าวขูดสีแดงจากน้ำกุหลาบ เลือกส่วนผสมได้ทั้งเม็ดอบเชย ยี่หร่า กานพลู ปูนขาว ปูนแดง ห่อด้วยใบพลูเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วนำก้านกานพลูกลัดไว้สวยงาม

ที่ตั้ง: ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ (ปากซอยตรอกข้างวัดซิกซ์)

ซาโมซ่า

มาให้ถึงย่าน Little India อย่างแท้จริงต้องไม่พลาดชิมเมนูเก่าแก่ประจำย่านนั่นก็คือ “ซาโมซ่า” ซึ่งมีขายในรถเข็นข้างทางอยู่หลายเจ้า แต่ถ้าถามหาเจ้าเก่าแก่ต้องยกให้ซาโมซ่ารถเข็นปากตรอกข้างวัดซิกข์ ร้านนี้ขายมานานหลายสิบปี

ด้านเมนูก็มีไม่กี่อย่าง ได้แก่ “ซาโมซ่า” รูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายกะหรี่ปั๊บแต่ใส้เป็นมันฝรั่งผสมเครื่องเทศ Pakora ถั่วกับเครื่องเทศและผักชุบแป้งทอด และ Tikki มันฝรั่งบดผสมเครื่องเทศนำมาทอดเป็นก้อนกลม

ที่ตั้ง : ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ (ปากซอยตรอกข้างวัดซิกซ์)

ฟูดคอร์ทอาหารอินเดีย

นอกจากร้านขายผ้าตามตรอกในย่านพาหุรัดแล้ว ถ้าสนใจสินค้าอินเดียต่างๆ นานา โดยเฉพาะชุดและเครื่องประดับสไตล์อินเดียแบบสำเร็จรูป ซื้อปุ๊บใส่ออกงานได้เลยแนะนำให้ตรงมาที่ ห้างอินเดีย เอ็มโพเรียม ใกล้กับวัดซิกข์

อาหารอินเดีย
พาหุรัด

ชั้นบนของห้างแห่งนี้คือฟูดคอร์ทที่พิเศษตรงขายอาหารอินเดียเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ที่สำคัญราคาถูกกว่าร้านอาหารอินเดียทั่วไปมาก มีตั้งแต่ร้านที่คลับคล้ายข้าวแกงไทยแต่เปลี่ยนจากข้าวเป็นโรตี แป้งนาน หรือบริยานีเม็ดยาว นอกจากนี้ยังมีร้านโยเกิร์ต น้ำปั่นสไตล์อินเดีย ร้านน้ำชา แต่น่าเสียดายอยู่นิดที่ก่อนหน้านี้มีร้านอาหารอินเดียเต็มทั้งชั้น แต่ตอนนี้หลายร้านปิดตัวลง คงเหลือร้านเก่าแก่ที่เปิดตัวพร้อมกับโฉมใหม่ของห้างแห่งนี้

ที่ตั้ง : ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ

ก๋วยเตี๋ยวพม่า

ร้านนี้อาจจะไม่จัดเป็นเมนูอาหารอินเดีย แต่ถ้ามาย่าน Little India แล้วก็ต้องห้ามพลาด เพราะร้านนี้ตั้งอยู่หลังวัดซิกซ์พอดิบพอดี ยืนหนึ่งเรื่องก๋วยเตี๋ยวพม่าร้านเดียวในย่าน ส่วนความอร่อยนั้นการันตีได้จากการติดลิสต์เข้าไปขายในงาน Fruitfull ของ Wonderfruit ในบ้านจิม ทอมป์สัน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

อาหารอินเดีย

ร้านนี้ไม่มีชื่อร้าน แต่มีภาษาพม่าเขียนบอกเมนูอยู่ มีให้เลือกทั้งเส้นที่หน้าตาคล้ายเส้นใหญ่สีขาว กับเส้นสีเหลืองแบบข้าวแรมฟืนทำจากถั่ว ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวธรรมดาน้ำซุปจะค่อนข้างข้นเหนียว ใส่พริกเผา ถั่วทอด ผักดอง อร่อยครบรส ส่วนถ้าเป็นสีเหลืองแบบข้าวแรมฟืนแนะนำเป็นเมนูแห้ง และยำ ใส่พวกผักชุบแป้งทอด กินคู่กันกับพริกและผักดอง ไม่ต้องปรุงให้มากความเลยจริงๆ

ที่ตั้ง : ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ (หลังวัดซิกซ์)

Little Bhutan

ใจกลางย่านอินเดียริมคลองโอ่งอ่าง มีอีกร้านใหม่ที่อยากแนะนำ นั่นก็คือร้านอาหารภูฏาน Little Bhutan ซึ่งแน่นอนว่าต้องมากับเมนูขึ้นชื่ออย่าง “โมโม่” ซึ่งหน้าตาเหมือนเกี๊ยวสไตล์ฑิเบต (แต่ตอนนี้ฮิตมากในอินเดียตอนเหนือ) แป้งหนากว่าเกี๊ยวญี่ปุ่น หรือจีนมีใส้หมู ผัก ไก่ เนื้อ และก็มีทั้งนึ่งและทอดให้ได้เลือก

อาหารอินเดีย
โมโม่

อีกเมนูที่พลาดไม่ได้จริงๆ คือ Ema Datshi แกงพริกกับชีส อาหารประจำชาติ ที่คนภูฏานกินกันทุกบ้าน วัตถุดิบของเมนูนี้มีแค่พริกกับชีสเท่านั้นจริงๆ แต่เป็นพริกขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เผ็ดมาก และก็ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อกินคู่กับชีสแล้วจะอร่อยลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่แนะนำให้กินเปล่า แต่ให้สั่งข้าวสวยร้อนๆ มากินคู่ เรียกว่าเปิดประสบการณ์ใหม่ในการกินชีสได้เลยเพราะยังมีอีกหลายเมนูที่นำชีสมาปรุงอาหารเป็นแกง เป็นสลัด ที่อร่อยไปอีกแบบ

อาหารอินเดีย
Ema Datshi แกงพริกกับชีส

ที่ตั้ง : ถนนจักรเพชร กรุงเทพฯ (ริมคลองโอ่งอ่าง)

เปิดบริการ : อังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-22.00 น.


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว