Somewhere : Common Space ที่เชื่อมโยงผู้คนและสถานที่ด้วยเรื่องราวหลากมิติ
Better Living

Somewhere : Common Space ที่เชื่อมโยงผู้คนและสถานที่ด้วยเรื่องราวหลากมิติ

Focus
  • Somewhere โครงการที่เริ่มต้นจากพื้นที่ออฟฟิศของ JUNNARCHITECT ก่อนขยับขยายไอเดียสู่ Common Space ที่ไม่ว่าจะมานั่งคุย เดินเล่นหรือร่วมทำเวิร์กชอปก็ทำได้
  • นอกจากฟังก์ชันด้านพื้นที่ของ Somewhere การออกแบบยังเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ที่บอก-เล่าผ่านความ Imperfect, Perfect
  • Somewhere มุ่งจัดกิจกรรมเวิร์กชอป และตั้งใจร่วมมือกับผู้คนในย่านเพื่อแบ่งปันไอเดียและประสบการณ์ร่วมกัน โดยมองว่าการออกแบบเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดีที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

เพียงไม่ใกล้ไม่ไกลจากต้นซอยประดิพัทธ์ 17 ก็พาเรามาถึงที่ตั้งของโครงการ Somewhere อีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งคอยเปิดต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร ไม่ว่าจะด้วยตัวพื้นที่ กิจกรรมหรือเวิร์กชอปตามโอกาสต่าง ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาเชื้อเชิญให้ผู้ที่สนใจก้าวเข้าไปหาและเติมเต็มพื้นที่ให้มีชีวิตอยู่เสมอ 

Somewhere ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้มีจุดเริ่มต้นจากไอเดียของ อาจารย์โอ๊ต-ผศ.นันทพล จั่นเงิน Designer Director แห่ง JUNNARCHITECT ที่ Sarakadee Lite เคยพูดคุยกันครั้งหนึ่งแล้วกับบทบาทผู้อำนวยการและผู้ออกแบบ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร โฉมใหม่ รวมถึง เบล-พนินทร โชคประเสริฐถาวร ผู้บริหารโครงการ Somewhere ที่ผ่านเข้าออกย่านนี้อยู่เป็นประจำด้วยเคยอยู่ออฟฟิศ 33 Space ในซอยเดียวกันนี้มาก่อนราวสิบปี 

จากแรกเริ่มที่อยากมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง เมื่อเห็นที่ดินอันเป็นที่ตั้งปัจจุบันว่างอยู่และคิดเห็นว่าออฟฟิศไม่ได้ต้องการพื้นที่มากเท่าขนาดที่มี เลยนึกถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) จนเกิดเป็นโครงการนี้ที่เปิดทำการต้อนรับทุกคนในทุก ๆ วันขึ้นมา 

เบล-พนินทร โชคประเสริฐถาวร

“จริง ๆ เราไม่ได้ต้องการอะไรเยอะเลย ออฟฟิศเราต้องการแค่นี้ แต่พื้นที่ที่มีมันโอเวอร์และพอเราเป็นสถาปนิกก็จะนึกถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะ เราเองอยู่เมืองนอกมาก็จะนึกถึงและอยากมีพื้นที่แบบนั้น อยากให้คนมานั่งคุยกันหรือพาหมามาเดินเล่นได้ เป็นความชอบจากความเป็นดีไซเนอร์นี่แหละ 

“เบลไปเรียนที่ฟินแลนด์กับเบอร์ลิน อาจารย์โอ๊ตเคยอยู่ลอนดอน เราก็ไปลอนดอนมาด้วยเหมือนกัน พื้นที่สาธารณะทุกที่เขาเข้าถึงได้ง่าย ฟรี และเป็นมิตรอยากทำอะไรก็ได้เลย กิจกรรมค่อนข้างเปิดกว้างมาก ต่างจากบ้านเราที่ถึงจะมีสวนสาธารณะ แต่จะเป็นแนวไปวิ่งหรือออกกำลังกาย ซึ่งคำว่าพื้นที่สาธารณะของเรามันไม่ได้แปลว่าต้องไปปิกนิกหรือจ๊อกกิง แต่มันแปลว่าที่ที่เราอยากจะไปนั่งเล่นก็ได้หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเวิร์กชอป นิทรรศการ เราอยากให้มันหมุนเวียนและค่อนข้างยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยน” เบลอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ 

Somewhere เปิดประตูต้อนรับเพื่อนบ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2564 หากแต่เบลกล่าวว่าพวกเขาตั้งใจเข้ามาด้วยความเคารพและมีความเป็นส่วนหนึ่งกับย่านนี้จริง ๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม จุดนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนผ่านดีไซน์ในส่วนต่าง ๆ ทั้งการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง และอีกส่วนสำคัญคือเมสเสจของพื้นที่ที่ถูกร้อยเรียงเอาไว้ โดยมีอีกส่วนสำคัญนั่นคือ “ทุกอย่างเกิดจากความง่าย ๆ”

“เราเข้ามาแบบเคารพสถานที่ คนอาจคิดว่าเราทำสไตล์มินิมัล แต่จริง ๆ มันคือการทำอะไรก็ได้ที่น้อยที่สุด เราเข้ามาด้วยฟีลแบบขออยู่หน่อยนะคะ เลยทำอาคารแบบเรียบ ๆ เน้นปลูกต้นไม้ รอบข้างเขาสามารถมองเห็นวิวและบรรยากาศได้ จริง ๆ สิ่งที่ยากที่สุดของที่นี่คือการอยู่ติดกับเพื่อนบ้านเพราะอย่างที่เห็นคือหลังบ้านเขาเป็นสิบหลังที่เคยอยู่สงบ ๆ เวลาทำอะไรเราก็จะแจ้งเขา ทำความรู้จักกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ในตอนที่ Somewhere เปิดแล้วที่นี่ก็จะเป็นพื้นที่หนึ่งของเขาด้วย”

“จริง ๆ เมื่อก่อนย่านประดิพัทธ์ในความรู้สึกเราไม่ค่อยต่างจากตอนนี้มาก โดยกายภาพอาจจะเปลี่ยน แต่มู้ดไม่ค่อยเปลี่ยนเพราะประดิพัทธ์ยังเป็นย่านที่อยู่อาศัย เมื่อก่อนที่ที่เราเคยอยู่จะเป็น Designer Hub มู้ดก็จะเป็นแบบนี้แหละ ยังไม่ได้ Commercial มากหรือถูกแทรกแซงเพราะว่าหนึ่งคือเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่คนไม่ได้สามารถย้ายออกไป และสองคือพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ทรัพย์สินที่ไม่ได้ยังถูกถ่ายโอนไปเป็นคอนโดมิเนียมหรืออย่างอื่น เหมือนมันถูกกำหนดไว้ว่าต้องเป็นแบบนี้ เราเลยคิดว่าบรรยากาศที่นี่ยังสบายเหมือนบ้าน” เบลให้ความเห็นในฐานะของคนที่เห็นย่านนี้มาราวสิบปีเมื่อเราถามถึงความเปลี่ยนแปลง ก่อนเสริมว่าสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือผู้คนใหม่ ๆ ที่เข้ามา

“เราทดลองเปิดมา 1 ปีก็ค่อนข้างอยากเห็นอะไรใหม่ด้วยการที่เราจัดนิทรรศการ ก็จะมีกลุ่มที่ชอบศิลปะเข้ามา เราจัดตลาดซึ่งแต่ละตลาดจะไม่เหมือนกัน จุดนี้ก็จะดึงคนที่ไม่เหมือนกันเข้ามา เช่นเราจัดวินเทจก็จะเป็นคนที่ชอบแนววินเทจ จัดตลาดต้นไม้ก็เป็นคนที่ปลูกต้นไม้ เราเลยมองว่าจริง ๆ ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่เราจะดึงใครเข้ามา ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ด้วยว่าเราต้องการให้เขารับรู้อะไร”

นอกจากอีเวนต์ กิจกรรมและเวิร์กชอปที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสร้างสีสันใหม่ ๆ ด้านดีไซน์ของตัวพื้นที่เองก็แฝงไว้ด้วยเรื่องราวที่บอกเล่าความ Imperfect, Perfect เอาไว้ในทุกส่วน รวมไปถึงแฝงความเชื่อมโยงเอาไว้ในหลาย ๆ มิติร่วมด้วย

“เราเข้ามาด้วยเมสเสจของหลังตึกแถวตรงนี้ บางคนอาจจะมองว่าไม่สวย แต่สำหรับเรา เรามองว่าสวยดี คือไม่ค่อยมีใครได้เห็นหลังบ้านคนเพราะปกติเราจะเห็นหน้าบ้าน แต่นี่เราเห็นหลังบ้านเขาที่สะท้อนว่าเขาอยู่อย่างไร อยู่มานานแค่ไหน เพราะทุกหลังไม่เหมือนกันเลย สิ่งนี้มันอาจไม่ได้สวยแต่เรามองว่ามันอยู่ได้นี่ มันคือชีวิตปกติ สิ่งนี้เลยสะท้อนมาถึงดีไซน์เราว่า Imperfect, Perfect มันคือความไม่สวยแต่เขาอยู่ได้และแฮปปี้ ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เราเลยเอาจุดนี้มาสะท้อนในการดีไซน์ของแต่ละก้อนด้วย” 

หากเดินเข้ามาจากด้านหน้าเราจะพบกับ F.I.X. Pradiphat ร้านกาแฟที่เบลกล่าวว่าเป็นเสมือนส่วนต้อนรับ ด้วยบรรยากาศ กลิ่นกาแฟและเครื่องดื่มที่สามารถมอบความผ่อนคลายให้พร้อมเปิดรับส่วนต่อไป

“ร้านกาแฟ คนจะถามว่าเราเจาะหน้าต่างแบบนั้นทำไม พอเราเล่าเรื่อง Imperfect, Perfect ซึ่งคนจะเข้าใจได้จากการเปรียบเทียบ เราเลยให้ร้านกาแฟเป็นเส้นเรื่องในการเล่า เราเรียกส่วนนี้ว่า Urban Gallery ที่จะถ่ายทอดข้อความที่เราคิดผ่านหน้าต่าง เพราะถ้ามองจากข้างหน้ากระจกบานแรกบานใหญ่ ๆ จะเห็นร้านกาแฟ แต่ประตูนั้นจะซ่อนไม่ให้คนเห็นข้างหลังเหมือนเป็นการซ่อนไว้ก่อน แต่พอเปิดประตูเข้ามาจะเห็นหน้าต่างที่มองไปเห็นคอนโดมิเนียม เห็นตึกแถว เป็นซีนแรกที่เปรียบเทียบถึงความไม่เพอร์เฟกต์กับความเพอร์เฟกต์ของเมือง เราพยายามสร้างซีนเพื่อให้คนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร 

“ซีนถัดมาจะอยู่ด้านขวา เป็นหน้าต่างเล็ก ๆ วิวที่เห็นจะเป็นรั้วตึกแถวกับต้นไม้ของเรา บานถัดมาที่อยู่สูงขึ้นไปก็จะเห็นต้นไม้และบ้านที่มีท่อน้ำสีฟ้า สนิม สังกะสี และพอเข้ามาในร้านจะมีกลิ่นกาแฟ เมื่อคนดื่มกาแฟเราเชื่อว่าจะค่อนข้างโอเพ่นขึ้น นำมาสู่ช่องที่ใหญ่ที่สุด เป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่คนจะได้นั่งแล้วมองเห็นต้นไม้ พร้อมจิบกาแฟและเห็นวิวตึกแถว มันคือการค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ แทรกเข้าไป จนสุดท้ายเขารู้สึกว่ามันมีเมสเสจอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็จะมาเป็นบานสุดท้ายที่เป็นบานใหญ่ที่สุด เหมือนกับว่าเราโอเคแล้วนะ โอเพ่นแล้ว เปิดออกมาปุ๊บก็จะเห็นซีนทั้งหมดแบบกว้าง ๆ ในช่องตรงกลางนี้”

เมื่อเข้ามาสู่ส่วนกลางซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงของทั้งสามส่วนนั่นคือ ร้านกาแฟ ร้าน 8Sqm. (ร้านไก่คาราเกะ) จนถึงส่วนหลังที่เป็นออฟฟิศซึ่งด้านล่างเปิดเป็นพื้นที่เวิร์กชอปหรือจัดนิทรรศการ พื้นที่ตรงกลางนี้ยังเปิดโล่งรับบรรยากาศ ให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับสิ่งรอบข้างได้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่อยู่ภายในตึกอาคารอย่างเดียว

“สำหรับเราคิดว่าคำว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นว่าจะต้อง Sustainable หรือ Eco เพราะเราก็เลือกวัสดุที่ถ้าถามว่ามันเป็นมิตรไหม มันเป็นมิตรนะ แต่ไม่ได้บอกว่าคุณต้องสร้างอิฐจากกากกาแฟ อันนี้สมมตินะคะ แต่เรามองเรื่องของสิ่งที่มีอยู่แล้ว และมองว่ามันต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างโอกาสให้คนมันเป็นมิตรในหลาย ๆ มิติ ในแง่ของสังคมวัฒนธรรมด้วย เป็นมิตรในเชิงการทำความรู้จักว่าสถาปัตยกรรมเราเข้าไปอยู่ในหน้าที่อะไร บางคนเข้าไปบุกรุก บางคนเข้าไปไม่ทำความเคารพรอบข้าง ก็ไม่เป็นมิตรแล้ว เป็นมิตรจริง ๆ คือการที่เราเข้าไปเหมือนว่า สวัสดีครับคุณลุงคุณป้า ตึกเราต้องทำหน้าที่แบบนั้น มีความนอบน้อมและเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร รวมถึงการเพิ่มเติมบางอย่าง สร้างโอกาสให้เขา ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้ เขาอาจไม่ได้มานั่งคุยกันก็ได้ การเป็นมิตรมันเลยเป็นการสร้างสังคม สร้างการ Sharing ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย

“ตอนมานั่งทำโครงการที่นี่แรก ๆ เราก็พยายามมาทุกวันเพื่อจะเห็นว่าใครมา เขามาทำอะไร เขามาคุยอะไรกัน เราดีใจมากที่… ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง คือคนใน 33 Space มานั่งคุยกันแล้วถามว่า อ้าว อยู่ห้องนี้เหรอ ทำออฟฟิศอะไร มันคือการเห็นความเป็นมิตรในอีกเลเยอร์หนึ่งซึ่งมันคือการสร้างสังคม สร้างคอมมูนิตีให้เกิดการพูดคุยกัน เพราะการพูดคุยกันอาจจะเกิดการต่อยอดต่อไปก็ได้ มันคือการสร้างโอกาสร่วมกัน เราเลยคิดว่าเรื่องวัสดุเป็นเรื่องเบสิก เพราะสถาปนิกเราก็จะรู้อยู่แล้ว แต่มากกว่านั้นคือการแทรกตัวเข้าไปในสังคมและการคิดต่อ ตัวอาคารเวลาเรามองมันไม่เกิดอะไรหรอก แต่โปรแกรมที่ใส่เข้าไปในอาคารมากกว่าที่มันน่าจะสร้างมิติอื่น ๆ ที่เราเองซึ่งเป็นสถาปนิก มีโอกาสที่จะได้สร้างพื้นที่นี้ให้มันเกิดมิติอื่น ๆ ได้ด้วยสำหรับสถาปัตยกรรม มันก็เป็นโอกาสที่ดี”

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ นอกจากตลาดสุดสัปดาห์ (Weekend Market) หรืออีเวนต์ที่มาพร้อมความ Festive อาทิ ดนตรีสด (Live Music) ในเทศกาลคริสต์มาส เบลกล่าวว่าตั้งใจอยากจัดเวิร์กชอปบ่อยขึ้นด้วยมองว่าเวิร์กชอปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การต่อยอดในมิติต่าง ๆ ได้มากกว่าการเป็นกิจกรรมแก้ว่าง

“เรามองว่าเวิร์กชอปไม่ใช่กิจกรรมที่คนไม่รู้จะทำอะไรแล้วมาทำ ทุกครั้งเราครีเอตเวิร์กชอปเองแล้วชวนศิลปินเอง เวิร์กชอปคือการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้จริง ๆ เพื่อต่อยอดให้คนที่มาเรียนเขาอาจจะเกิดอาชีพใหม่หรือตระหนักอะไรบางอย่าง เช่นวันนี้เป็นเวิร์กชอปเซรามิก Drop Color Clay Workshop by laholic.studio คนที่มาก็ได้ใช้แก้วและอีกมุมคือการได้ลดขยะไปด้วย เมื่อเช้านี้ Make Your Own Household Cleaner Workshop by Normal Shop: zero waste community เป็นการทำน้ำยาสำหรับใช้ในบ้านจากวัตถุดิบธรรมชาติ มันก็คือการผูกเรื่องของคอมมูนิตีเข้ามา เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นอะไรที่คนอยากเรียนรู้มากกว่า

“หลัก ๆ เรามองเรื่องการเกิดกิจกรรมด้วยอย่างตลาดที่ทุกคนในย่านมีกิจการและมองเรื่องเดียวกันในการนำพาให้อารีย์-ประดิพัทธ์เกิดความยั่งยืน (Sustainable) มากขึ้น เราก็คิดว่าพื้นที่นี้น่าจะเกิดสิ่งนี้ได้ด้วย เลยมองว่าปีนี้น่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือกันของคนในย่านทั้งในเชิงกิจการและดีไซเนอร์ที่มีองค์ความรู้ (Know How) บางอย่างแล้วมาแชร์ให้คนอื่น เราทำที่นี่และพยายามจัดสิ่งเหล่านี้เพราะเราเชื่อว่าดีไซน์มันยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดีที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เบลกล่าวปิดท้ายถึงความตั้งใจต่อโครงการในปีนี้

อ้อ! อัปเดตหน่อยว่าสำหรับใครที่อยู่ใกล้โซนอารีย์-ประดิพัทธ์ ตอนนี้ AriAround เพิ่มจุดรับขวดและกระป๋องอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้นเป็น 6 จุด รวมถึงที่ Somewhere ด้วย สามารถมาแลกรับ AriCoin กันที่นี่และรับสิทธิพิเศษภายในโครงการได้เลย 

Fact File

  • Somewhere เปิดทำการทุกวัน เวลา 8:00-17:00 น. ที่ตั้ง Somewhere เลขที่ 2 ซอยประดิพัทธ์ 17 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ Google Map : bit.ly/3LYxU4y
  • ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรม www.facebook.com/Somewherewhite
  • Instagram : @somewhere.white

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว