บารัก โอบามา : บนเส้นทางของการแสวงหาความเป็น “อเมริกัน”
Faces

บารัก โอบามา : บนเส้นทางของการแสวงหาความเป็น “อเมริกัน”

Focus
  • American Dream ในคำจำกัดความของ บารัก โอบามา ได้ถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้งผ่านสารคดีซีรีส์ Obama: In Pursuit of a More Perfect Union ความยาว 3 ตอน ทาง HBO Go
  • สารคดีซีรีส์ ถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนบทวิจารณ์เกี่ยวกับโอบามาจากผู้เข้าร่วมให้สัมภาษณ์ในหลากหลายวงการ อัดแน่นด้วยอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ในยุคที่ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติและผิวสีปะทุขึ้น แต่ท้ายที่สุดกลับกระตุ้นให้พลเรือนชาวอเมริกันได้ฉุกคิดถึงประชาธิปไตยกับความเป็นอเมริกัน

เราไม่ควรลืมว่าเรามาอยู่ที่แห่งนี้ในฐานะ ‘ข้าราชการ’ และกิจของข้าราชการคือโอกาสพิเศษ โดยที่งานหลักหนึ่งเดียวมีเพียงแค่การมุ่งยกระดับพัฒนาความก้าวหน้าในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ต่อชาวอเมริกันเท่านั้น” 

บารัก โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีคนที่ 44 แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวขึ้นเป็นประโยคแรกต่อทีมเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ในวันแรกที่พบหน้าและเริ่มทำงานในฐานะผู้นำประเทศของชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกหลังสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวอเมริกันผิวสีคนแรกที่เกิดนอกแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ที่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งมาได้บ่งชี้ถึงความตั้งใจของเจ้าตัวที่มุ่งมั่นจะทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงตามที่เคยลั่นวาจาไว้

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากความยากลำบากในการบริหารประเทศ เร่งฟื้นเศรษฐกิจที่ยังไม่อาจผ่านพ้นวิกฤต เดินหน้าปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในนาม The Affordable Care Act (ACA) หรือ Obamacare และยุติสงครามในแดนไกลเพื่อพาทหารกลับสู่มาตุภูมิ อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ โอบามา ไม่อาจหนีพ้นก็คือตัวตนความเป็น “แอฟริกัน” หรือ “คนดำ” ในสายเลือดที่สืบทอดมาจากพ่อผู้ให้กำเนิดชาวเคนยา 

หลายครั้ง โอบามาถูกตั้งคำถาม ถูกสงสัย ถูกมองด้วยอคติ จากความเป็น “คนดำ” ของตนเอง จากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งในหมู่ชาวอเมริกันผิวสีด้วยกันเองที่มองว่า โอบามาไม่เคยเผชิญกับความทุกข์ยากในแบบที่ชาวอเมริกันผิวสีโดยมากต้องเผชิญ เนื่องจากมีแม่เป็นฝรั่งผิวขาว และเกิดมาในครอบครัวที่มีอันจะกิน 

กระนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว หลายต่อหลายคนกลับเปลี่ยนใจและยอมรับในความเป็น “ตัวจริง” ของโอบามา ที่เจ้าตัวประกาศชัดว่า ตนเองก็เหมือนกับชาวอเมริกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนขาว คนดำ คนเอเชีย หรือคนละติน สุดท้ายแล้วกลุ่มคนทั้งหมดเหล่านี้ก็คือพลเรือนของชาวอเมริกัน ผู้มีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการที่จะยืนอยู่บนแผ่นดินแห่งประชาธิปไตยนี้ได้อย่างภาคภูมิ

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ถึงจะเป็นชาติมหาอำนาจต้นแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ “เชื้อชาติ” หรือ ความเป็น “คนขาว-คนดำ” กลับเป็นความแตกแยกที่ฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างแยกไม่ออก 

ดังนั้น เมื่อมีคน “ผิวสี” ได้รับการยอมรับในตำแหน่งผู้นำประเทศที่คนใกล้ชิดโอบามาให้นิยามว่า “เขากลายเป็นบอสของคนขาว” จึงก่อให้เกิดกระแสทั้งความภูมิใจและความกลัวไปพร้อม ๆ กัน ภูมิใจที่สหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นชาติที่เปิดกว้างแค่ไหน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่กลัวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ตนเองสูญเสียบางอย่างไป 

“ถ้าผมจะแพ้ ไม่ใช่เพราะตัวผมที่เป็นคนดำ แต่เป็นเพราะผมเองที่ไม่ได้แสดงให้ชาวอเมริกันมองเห็นและเชื่อมั่นในทิศทางนโยบายในการบริหารประเทศของตัวผมเอง” 

คำตอบข้างต้นของโอบามาระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อครั้งหนึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง น่าจะเป็นอีกหนึ่งข้อความสำคัญที่เจ้าตัวพยายามย้ำและสื่อถึงพลเรือนชาวอเมริกันทุกคนว่า ความเป็นอเมริกันแท้จริงแล้วคือสิ่งใด 

เชื้อชาติทางสายเลือดที่คุณได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ หรือ ตัวตนที่บริบททางสังคมที่คุณเกิดได้หล่อหลอมมา 

แน่นอนว่า ในฐานะผู้นำประเทศ โอบามาย่อมไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าตนเองเข้าข้างหรือฝักใฝ่ฝ่ายใด กระนั้น หลายคนที่ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดต่างเห็นตรงกันว่า ไม่ใช่เพราะตำแหน่งหรือฐานะ แต่โอบามาไม่เคยเลือกอยู่ข้างใครเลย สิ่งที่เจ้าตัวเลือกมีเพียงประชาชนชาวอเมริกันเท่านั้น

และประเทศจะก้าวหน้าพัฒนา หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อไปได้ก็ด้วยความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพลเรือนชาวอเมริกันทั่วประเทศเท่านั้น

บารัก โอบามา

หนึ่งในทีมที่ปรึกษาทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า แนวคิดของโอบามาและความเป็นคนเชื่อมั่นที่หัวรั้นอย่างที่สุดของตัว ค่อนข้างจะเป็นอุดมคติจนเกินไป แต่ในความที่โอบามาคิดถึงผลประโยชน์ของชาวอเมริกันส่วนใหญ่อยู่เสมอ ทำให้เจ้าตัวเป็นผู้นำบนเวทีโลกที่แสดงให้เห็นว่าความเป็น “มนุษย์” โดยสมบูรณ์เป็นอย่างไร การรัก เป็นที่รัก และรับผิดชอบต่อประชาชน เป็นอย่างไร 

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่แม้สมัยแรกจะเผชิญกับปัญหาขัดแย้งมากมาย และผลงานที่ไม่ค่อยสวยหรูสักเท่าไร แต่โอบามาก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นำประเทศอีกครั้ง 

“ผมไม่คิดว่าผมจะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดภายในระยะเวลา 8 ปี เพราะชีวิตและประเทศมักมีความท้าทายใหม่ ๆ ดาหน้าเข้ามาอยู่เสมอ แต่ผมหวังว่า เมื่อสิ้นสุดสมัยการบริหารของรัฐบาลโอบามา ผู้คนจะมองกลับมาแล้วพูดว่า เราได้เปลี่ยนแปลงการเมืองของเรา ทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจในรัฐบาลของตนเองอีกครั้ง รู้สึกว่ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อคนเพียงหยิบมือ และในท้ายที่สุด หลังรัฐบาลโอบามา ประเทศแห่งนี้จะมีความเท่าเทียมมากขึ้น มีความยุติธรรมมากขึ้น เศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น และประชาชนทุกคนมีโอกาสที่จะคว้าฝันในแบบ ‘American Dream’”

ทั้งหมดนี้คือเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งตัวตนของ บารัก โอบามา บนเส้นทางที่ก้าวสู่จุดสูงสุดของหน้าที่การงานทางการเมือง ผ่านมุมมองและคำบอกเล่าของคนรอบข้าง รวมถึงคำให้สัมภาษณ์และสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง ๆ ของเจ้าตัวเอง ผ่านสารคดี Obama: In Pursuit of a More Perfect Union ความยาว 3 ตอน กินเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง ที่อัดแน่นไปด้วยอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ในยุคที่ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติและผิวสีปะทุขึ้น กับเส้นทางที่มีทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตา แต่ท้ายที่สุดกลับกระตุ้นให้พลเรือนชาวอเมริกันได้ฉุกคิดถึงประชาธิปไตยกับความเป็นอเมริกัน 

Fact File

  • รับชมสารคดี Obama: In Pursuit of a More Perfect Union ได้ทาง HBO Go
  • อีกความน่าสนใจของสารคดีซีรีส์ Obama: In Pursuit of a More Perfect Union ชุดนี้คือการถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนบทวิจารณ์เกี่ยวกับโอบามาจากผู้เข้าร่วมให้สัมภาษณ์ในหลากหลายวงการ เช่น นักเขียน Jelani Cobb, ผู้แทนราษฎร John Lewis, ที่ปรึกษาทางการเมือง David Axelrod, บาทหลวง Alvin Love,นักเขียน Michael Eric Dyson, นักข่าว Laura Washington, บาทหลวง Jeremiah Wright, นักข่าว Michele Norris, David Remnick บรรณาธิการนิตยสาร The New Yorker, บาทหลวง Al Sharpton, ศาสตราจารย์ Cornel West, นักการเมือง Jesse Jackson, นักเขียน Ta-Nehisi Coates, Sherrilyn Ifill แห่ง NAACP, ที่ปรึกษาทางการเมือง Valerie Jarrett, ศาสตราจารย์ Henry Louis Gates Jr., นักแสดง Keegan-Michael Key, อดีตข้าราชการ Shirley Sherrod, นักข่าว David Maraniss, ศาสตราจารย์ Ken Mack, ผู้เขียนคำสุนทรพจน์ Jon Favreau, ที่ปรึกษา Broderick Johnson และผู้แทนราษฎร Bobby Rush

Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน