ไหมลำพูน ปราสาทหิน เครื่องหัว ถอดรหัสไทยใน LALISA ซิงเกิลเดี่ยว Lisa BLACKPINK
Lite

ไหมลำพูน ปราสาทหิน เครื่องหัว ถอดรหัสไทยใน LALISA ซิงเกิลเดี่ยว Lisa BLACKPINK

Focus
  • LALISA เป็นซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกของ Lisa Blackpink หรือ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ซึ่งถูกปล่อยออกมาในวันที่ 10 กันยายน 2564 เพียงหนึ่งชั่วโมงมีผู้ชมเกือบ 10 ล้านวิว
  • ซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกของ Lisa Blackpink ได้นำตัวตนของลิซ่าซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ประเทศไทยไปสอดแทรกอยู่ในมิวสิควิดีโอด้วย

สมการรอคอยมาก 1 ชั่วโมงเกือบ 10 ล้านวิว พร้อมยอดจองอัลบั้มทะลุ 800,000 ก๊อปปี้ สำหรับ LALISA ซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกของ Lisa Blackpink หรือ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ซึ่งปล่อยออกมาในวันที่ 10 กันยายน 2564

เนื้อหาของซิลเกิลเดี่ยวครั้งแรกของลิซ่ามีเนื้อหาเหมือนเป็นการบอกเล่าตัวตนของเธอ โดยเฉพาะในท่อน “From Thailand to Korea…” เปิดตัวมาพร้อมกับกลิ่นอายความเป็นไทยที่ไม่ได้แช่แข็งวัฒนธรรมไว้เพียงขนบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นปราสาทหิน ผ้าไหมยกดอกของลำพูน ชฎา ดอกพุดซ้อน ทั้งหมดล้วนเป็นรหัสความเป็นไทยที่ถูกซ่อนไว้อยู่ในมิวสิค LALISA ทั้งสิ้น

ผ้าไหมยกดอกลำพูน

ในมิวสิกวิดีโอลิซ่าได้ปรากฏตัวในชุดเสื้อไหล่เดี่ยวแต่งเคปยาว และกระโปรงสั้นจับเดรปผ้าไหมสีเหลืองทอง เป็นผลงานการออกแบบของแบรนด์ Asava โดยมี พลพัฒน์ อัศวะประภา เป็นดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง ความพิเศษของชุดนี้คือการเลือกใช้ ผ้าไหมยก จากจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเทคนิคการทอที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ต้องใช้ผู้ชำนาญเพราะการทอผ้าไหมแบบที่มีการยก หมายถึงผู้ทอจะต้องยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า เลือกยกไหมบางเส้นและข่มบางเส้น จากนั้นพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทองเพื่อเพิ่มความเงางาม สำหรับชุดของลิซ่าทอเป็นลาย “พานจักรพรรดิ” ซึ่งซับซ้อนกว่าลายยกดอกทั่วไปที่นิยมทำเป็นลายดอกไม้ประจำถิ่น ทั้งยังมีการปักคริสตัลจาก Swarovski เสริมความประณีตอลังการเข้าไปอีกขั้น

สำหรับประวัติผ้าไหมยกก็มีเกร็ดที่น่าสนใจว่า การทอผ้าไหมยกของชาวลำพูนมีจุดเริ่มต้นใน “คุ้มเจ้า” ซึ่งแต่เดิมแม้จะเคยมีการทอผ้าฝ้ายยกกันใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่ก็เป็นการทอยกดอกด้วยลวดลายดอกไม้ธรรมดาไม่วิจิตรเท่าใดนัก จนกระทั่ง พระราชชายาเธอเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา อันได้เรียนรู้มาจากราชสำนักสยาม ให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ ชายาของพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย และเจ้าหญิงลำเจียก ธิดาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไหมยกดอกเริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น ทว่าก็น่าเสียดายที่ผู้ทอผ้ายกในปัจจุบันแทบจะเป็นช่างทอผู้สูงวัยเกือบทั้งหมด หลายโรงทอแทบจะไม่มีผู้สืบทอดแล้ว

LALISA

เครื่องหัว เครื่องประดับสื่อความเป็นไทยที่ศิลปินระดับโลกนึกถึง

ถ้าพูดถึงเครื่องหัวที่ชาวโลกนึกถึงเมื่อพูดถึงประเทศไทย แน่นอนว่าต้องเป็น ชฎา แต่ความจริงแล้ว ชฎา เป็นวัฒนธรรมร่วมในแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในนาฏศิลป์ที่สืบจากราชสำนักเขมร เราจะเห็นการสวมชฎาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่แล้วชฎาก็ได้กลายเป็นเครื่องหัวที่สื่อถึงความเป็ยไทยเมื่อป๊อปสตาร์ยุค 2010 อย่าง Lady Gaga เลือกสวมชฎาเพื่อเอาใจแฟนชาวไทย หรืออย่างใน MV เพลง Black or White ของ ไมเคิล แจ็กสัน ก็มีซีนรำไทยใส่ชฎาปรากฏอยู่

ส่วนเครื่องหัวที่มีความคล้ายกับ ชฎา เกี้ยวยอด รัดเกล้า ที่ปรากฏอยู่ใน LALISA เป็นผลงานการออกแบบของ Hook’s by Prapakas โดยดีไซเนอร์ไทย ประภากาศ อังศุสิงห์ ซึ่งเป็นการนำเครื่องหัวมาตีความใหม่ให้เข้ากับองค์ประกอบของเพลง

LALISA

Flower of Lisa คือดอกไม้ไทย

เครื่องประดับอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ เครื่องประดับดอกไม้จากแบรนด์ SARRAN by Sarran Youkongdee ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เน้นการนำแรงบันดาลใจจากดอกไม้ไทยมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ ก่อตั้งโดย ศรัณญ อยู่คงดี และสำหรับเรื่องราว Flower of Lisa ที่ปรากฏใน LALISA มีโจทย์หลักคือการนำกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยมาสื่อผ่านดอกไม้ ผลลัพธ์จึงเป็นการเลือกใช้ ดอกพุดซ้อน ที่มีความหมายถึงความแข็งแรงสมบูรณ์และความเจริญมั่นคงตามแบบความเชื่อของไทย จากนั้นนำมาออกแบบให้ช่อดอกไม้มีความเจริญงอกงามและเติบโตอย่างไม่รู้จบสิ้น แทนคำจำกัดความและตัวตนของลิซ่า ผู้หญิงที่จะเป็นตำนานและจะไม่มีวันหยุดนิ่ง ส่วนสร้อยสังวาล เครื่องประดับแบบไทยเดิมที่ได้มีการตีความมาจากดอกโป๊ยเซียน ดอกไม้ที่มีความหมายถึง “ความโชคดี” 

LALISA

บุรีรัมย์ดินแดนแห่งปราสาทหิน

บ้านเกิดของ ลิซ่า อยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งปราสาทหิน ถ้านับปราสาทเล็กใหญ่รวมกันบุรีรัมย์มีปราสาทหินร่วม 30 แห่งเลยทีเดียว ดังนั้นจังไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นปราสาทหินอยู่ในมิวสิค LALISA และสำหรับใครที่สนใจตามรอยปราสาทหินสู่บ้านเกิดของลิซ่า แนะนำ “ปราสาทพนมรุ้ง” ตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาไฟเก่าเมื่อหลายแสนปีก่อน สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 โดยพระเจ้านเรนราทิตย์ ผู้เป็นญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งทรงสร้างนครวัด ในประเทศกัมพูชา ที่นี่มีไฮไลต์เป็นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งเป็นทับหลังของจริงที่นำกลับมาประดับไว้ที่เดิมหลังจากถูกต่างชาติขโมยไปและกลายเป็นการทวงคืนทับหลังอันโด่งดังนั่นเอง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite